ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แอมป์มิเตอร์ (Ammeter)

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้                

                 คือเครื่องมือวัดที่ใช้สำหรับ วัดค่ากระแสไฟฟ้า ที่ไหลในวงจร
สัญลักษณ์ที่ใช้แทนแอมป์มิเตอร์ จะใช้อักษร A อยู่ในรูป วงกลม หรือ สี่เหลี่ยม กรณีแอมป์มิเตอร์ที่สามารถวัดค่ากระแสไฟฟ้าได้จำนวนน้อยๆ  ตัวอักษรอาจเป็น  mA หรือ μA

รูปที่ 1 แสดงสัญลักษณ์ของแอมป์มิเตอร์




รูปที่ 2 แสดงแอมป์มิเตอร์แบบยึดติดแผง


ส่วนประกอบภายในของแอมป์มิเตอร์ จะมีกัลวานอมิเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของมิเตอร์แบบใช้เข็มชี้โดยทั่วๆ ไป ที่ใช้แสดงจำนวนของกระแสที่ไหลผ่าน แต่กระแสที่ไหลผ่าน กัลวานอมิเตอร์นี้ จะมีจำนวนน้อยมาก ประมาณ 50 ไมโครแอมป์ เข็มก็จะชี้ได้เต็มสเกลที่วัด (กระแสที่ไหลผ่านกัลวานอมิเตอร์ ยิ่งน้อยแต่ทำให้เข็มชี้ได้เต็มสเกล แสดงว่าเครื่องวัดมีความไวในการวัดมาก) ดังนั้นจึงต้องนำมาดัดแปลงให้สามารถวัดค่ากระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยการนำตัวต้านทานมาต่อขนานกับตัวกัลวานอมิเตอร์ เพื่อแบ่งกระแสส่วนที่เราต้องการวัดให้มากขึ้นไหลผ่านความต้านทานนี้ และจะไหลผ่านกัลวานอมิเตอร์ไม่เกิน 50 ไมโครแอมป์ เท่าเดิม ทำให้เราสามารถวัดค่ากระแสได้ตามต้องการ


ดังนั้นตัวต้านทานที่นำมาต่อขนานเพื่อให้กระแสไฟฟ้าแยกไหล จะต้องมีความต้านทานน้อยๆ เพื่อให้กระแสไหลผ่านไปได้มาก ตามที่เราต้องการให้เพิ่มขึ้นจากค่ากระแสที่ไหลผ่านกัลวานอมิเตอร์ ตัวต้านทานที่นำมาต่อนี้เราเรียกว่า ชั้นต์ (shunt)

รูปที่ 3 แสดงส่วนประกอบภายในของแอมป์มิเตอร์

การต่อแอมป์มิเตอร์ใช้งาน

การนำแอมป์มิเตอร์ไปต่อเพื่อวัดค่ากระแสไฟฟ้าในวงจร จะต้องนำแอมป์มิเตอร์ไปต่ออนุกรมกับส่วนต่างๆ ของวงจรที่เราต้องการจะทราบค่าของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านส่วนนั้น

หลักการนำมิเตอร์ไปต่ออนุกรมคือ หากเราต้องการทราบค่าที่จุดใด ให้ตัดสายจุดนั้นออก ก็จะได้สายเป็นสองเส้น แล้วให้นำสายทั้งสองเส้นนั้นไปต่อเข้ากับขั้วของแอมป์มิเตอร์เส้นละขั้ว หรือต่อแบบสวิตซ์นั่นเอง (การต่อแอมป์มิเตอร์เข้ากับวงจร ให้หยุดจ่ายแรงดันไฟฟ้าก่อน เมื่อต่อแอมป์มิเตอร์เรียบร้อยแล้วจึงต่อแรงดันไฟฟ้าเข้าวงจรเพื่อวัดค่ากระแสไฟฟ้าและอ่านค่า)

ข้อควรระวัง หากเป็นแอมป์มิเตอร์สำหรับวัดค่ากระแสไฟฟ้าของไฟฟ้ากระแสตรง ต้องต่อขั้วบวกและลบของแอมป์มิเตอร์ให้ถูกต้องตามขั้วของแหล่งจ่ายไฟด้วย

รูปที่ 4 แสดงการต่อแอมป์มิเตอร์วัดค่ากระแสไฟฟ้าในวงจร




ความคิดเห็น