ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การตรวจขดลวดมอเตอร์พัดลมไฟฟ้า

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้

                 มอเตอร์พัดลมไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 1 เฟส ชนิด คาปาซิเตอร์รันมอเตอร์

                 ซึ่งอาการเสียที่เป็นสาเหตุจากตัวมอเตอร์ ก็จะต้องทำการวัดความต้านทานของขดลวด ซึ่งเราจะสามารถตรวจเช็คได้  3 อาการ ดังนี้

                 คือ ขดลวดขาด เราจะวัดค่าความต้านทานได้เป็นอนันต์ ( เข็มมิเตอร์ไม่ขึ้น )

                       ขดลวดช๊อตรอบ เราจะวัดค่าความต้านทานได้เป็น 0 หรือ น้อยกว่าปกติมาก

                       ขดลวดปกติ เราจะวัดค่าความต้านทานได้เป็นเป็นปกติ ซึ่งจะมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับขนาดความโตของขดลวดที่ใช้พันมอเตอร์นั้น ซึ่งขดลวดของมอเตอร์พัดลมจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขด คือ

                      1. ขดรัน คือขดลวดที่ทำให้มอเตอร์หมุน จะมีความต้านทานประมาณ  350  โอห์ม 

                      2. ขดสตาร์ท คือขดลวดที่ทำให้มอเตอร์เริ่มหมุนได้ โดยปกติจะพันด้วยขดลวดที่มีขนาดเล็กกว่าขดรัน จำนวนรอบน้อยกว่านิดหน่อยหรือใกล้เคียงกัน จึงทำให้มีความต้านทานมากกว่าขดรัน หรือใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตหรือการออกแบบ ดังนั้นขดสตาร์ทจึงมีความต้านทานประมาณ  400  โอห์ม

                     3. ขดโช๊ค คือขดลวดที่ใช้ลดแรงดันที่จ่ายให้มอเตอร์ ทำให้มอเตอร์มีแรงน้อยลง จึงทำให้หมุนใบพัดได้ช้าลงนั่นเอง ขดโช๊ค จะแบ่งเป็น 2 ชุด เพื่อลดสปีทลงให้ได้ 3 ระดับ ค่าความต้านทานของขดลวดแต่ละชุด จะมีความต้านทานประมาณ 80 โอห์ม

วงจรการต่อขดลวดมอเตอร์พัดลม



ส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับวงจรไฟฟ้า ของมอเตอร์พัดลม

                  1. สายเสียบปลั๊กไฟ

                  2. สวิตซ์ควบคุม

                  3. คาปาซิเตอร์

                  4. มอเตอร์



                      ในอดีตสายไฟของมอเตอร์พัดลมจะมีทั้งหมด 5 สาย จะมีความยาวเท่ากันทั้งหมด เพราะทุกเส้นจะต่อลงมาต่ออุปกรณ์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้า ที่จุดเดียวกัน คือที่ฐานของพัดลม ซึ่งจะมีวิธีการตรวจเช็คขดลวดของมอเตอร์ กรณีที่เราจะต่อวงจรไฟฟ้าของพัดลมแต่ยังไม่ทราบขั้วของมอเตอร์ ดังนี้

วงจรไฟฟ้า พัดลม 5 สาย ( ยาวเท่ากันทั้งหมด )

                     1. ให้วัดความต้านทาน ทั้งหมดของสายที่ละคู่จนหมด เราจะได้สาย 1 คู่ ที่มีค่ามากที่สุด ให้นำไปต่อกับ คาปาซิเตอร์ ซึ่งโดยปกติจะมีความต้านทานประมาณ 750 โอห์ม (เป็นค่าความต้านทานของขดรันรวมกับความต้านทานของขดสตาร์ท)

                       ดังนั้นในการตรวจสอบ หากเราวัดค่าสายไฟคู่ที่ต่อเข้ากับคาปาซิเตอร์ หากปกติจะได้ประมาณ 750 โอห์ม หากน้อยกว่ามาก เช่น 300 โอห์ม ก็แสดงว่าขดลวดเกิดการช๊อตรอบแล้ว หรือถ้าเข็มไม่ขึ้นแสดงว่าขดลวดรัน หรือสตาร์ทขาด 

                     2. เมื่อเราดำเนินการตามข้อ 1 แล้ว จะเหลือปลายขดลวดให้เราเช็คอีก 3 สาย ซึ่งจะเป็นสายที่ต่อเข้ากับสวิตซ์ 1, 2 และ 3 ซึ่งเราสามารถเช็คโดยการวัดค่าความต้านทานได้ดังนี้

                         2.1 ใช้สายเส้นหนึ่งของโอห์มมิเตอร์ จับที่สายใดสายหนึ่งของสายที่เราต่อกับคาปาซิเตอร์ในข้อที่ 1 และนำปลายสายอีกขั้วหนึ่งของโอห์มมิเตอร์ไปจับกับปลายสายมอเตอร์ที่เหลือทั้งสาม ทีละเส้น ซึ่งจะได้ค่าความต้านทานแตกต่างกันไป ( ความต้านทานแต่ละเส้นจะได้ประมาณ  350, 430 และ 510 มากหรือน้อยกว่านี้ได้ ขึ้นอยู่กับขดลวดที่พัน)

                         2.2 ให้นำปลายสายที่วัดค่าความต้านทานน้อยที่สุดไปต่อที่สวิตซ์ขั้ว 3 มากขึ้นมาต่อที่สวิตซ์ขั้ว 2 และมากที่สุด ต่อที่สวิตซ์ขั้ว 1

                      3. นำสายเส้นหนึ่งของโอห์มมิเตอร์ จับที่จุดสายต่อของสายสวิตซ์ขั้ว 3  ปลายอีกข้างของสายโอห์มมิเตอร์ นำไปจับที่สายที่ต่อกับคาปาซิเตอร์สลับกัน จะได้ความต้านทานน้อยและมาก ตามค่าความต้านทานของขดรันและขดสตาร์ท ซึ่งขดรันจะได้น้อยกว่า ให้นำสายนิวตรอลของปลั๊กไฟต่อที่จุดความต้านทานน้อยคือปลายของขดรัน (หากเราต่อผิดเส้นคือนำไปต่อกับปลายของขดสตาร์ท จะทำให้มอเตอร์หมุนกลับทาง)

                      

                     แต่ในปัจจุบัน จะนิยมต่อสายที่เข้าคาปาซิเตอร์ที่ด้านบนของพัดลม จึงมีสายสั้นจำนวน 2 เส้น  และสายลงมาที่ฐานของพัดลมเพียง 4 เส้น เท่านั้น กรณีที่เราจะต่อวงจรไฟฟ้าของพัดลมแต่ยังไม่ทราบขั้วของมอเตอร์ สามารถหาได้ดังนี้

วงจรไฟฟ้า พัดลม 6 สาย ( สั้น 2 ยาว 4 )

                   1. นำสายสั้นทั้ง 2 เส้น มาต่อรวมกัน และใช้สายเส้นหนึ่งของโอห์มมิเตอร์ จับที่จุดต่อของสายสั้นทั้งสอง ปลายอีกข้างของสายโอห์มมิเตอร์ นำไปจับที่ปลายของสายยาวทั้งสี่ที่ละเส้น จะมีเส้นหนึ่งที่วัดความต้านทานได้ 0 โอห์ม เนื่องจากเป็นสายไฟที่ต่อตรงไปต่อกับปลายสายของขดรันที่ต่อไปยังคาปาซิเตอร์ด้านบน ให้นำสายนั้นไปต่อกับสายนิวตรอล ของสายปลั๊กไฟที่ฐานพัดลม

                     ( ดังนั้นในการซ่อม ถ้าเราใช้สายโอห์มมิเตอร์เส้นหนึ่งวัดที่ปลายสายทั้งคู่ที่ต่อรวมกัน ปลายสายโอห์มมิเตอร์อีกเส้นหนึ่งจับที่สายมอเตอร์เส้นที่ลงมาต่อกับสายนิวตรอลของสายปลั๊กไฟ แล้วไม่ขึ้นแสดงว่าเทอร์โมฟิวส์ขาด)

                   2.  นำสายสั้นทั้ง 2 เส้น แยกออกจากกันและนำไปต่อเข้ากับคาปาซิเตอร์ที่ด้านบนได้เลย หรือจะวัดความต้านทานดูก็จะได้ประมาณ  750 โอห์ม

                      ( ดังนั้นในการซ่อม ถ้าเราใช้โอห์มมิเตอร์วัดที่ปลายสายทั้งคู่ แล้วไม่ขึ้นแสดงว่าขดลวดขาด)

                   3. นำสายสั้นที่เหลือ 3 เส้น ต่อเข้ากับสวิตซ์ ที่ฐานพัดลม โดยใช้ปลายสายโอห์มมิเตอร์เส้นหนึ่งจับที่สายเส้นที่ต่อกับสายนิวตรอลของสายปลั๊กไฟ และปลายสายโอห์มมิเตอร์อีกเส้นหนึ่งจับที่ปลายสายทั้ง 3 ที่ละเส้น จะได้ผลและต่อกับสวิตซ์ ดังนี้

                    - เส้นที่ได้ความต้านทานมากที่สุด ต่อกับสวิตซ์ 1 (หมุนช้าที่สุด)

                    - เส้นที่ได้ความต้านทานน้อยลงมา ต่อกับสวิตซ์ 2 (หมุนปานกลาง)

                    - เส้นที่ได้ความต้านทานน้อยที่สุด ต่อกับสวิตซ์ 3 (หมุนเร็วที่สุด)

หมายเหตุ  

                   - การตั้งค่าโอห์มมิเตอร์แบบเข็มวัดความต้านทานของมอเตอร์พัดลม ให้ตั้งที่ โอห์มตำแหน่ง X10  จะทำให้อ่านค่าได้สะดวกที่สุด โดยนำค่าที่อ่านได้จากสเกล คูณด้วย 10 จะเป็นค่าที่ถูกต้อง

                   - พัดลมในบทความนี้เป็นพัดลมแบบมาตรฐาน ที่พันขดลวดครบทั้ง 3 ชุด (ไม่ใช้พัดลมแบบประหยัดที่ใช้ขดสตาร์ทเป็นตัวลดแรงดัน ทำให้ประหยัดขดลวดจึงทำให้มีราคาถูกลง 

                   - ความต้านทานดังกล่าว เป็นความต้านทานโดยประมาณ แต่โดยปกติ ขดรันอาจจะต่ำถึงประมาณ 300 โอห์ม หรือต่ำกว่าอีกเล็กน้อย หากเป็นมอเตอร์ขนาดใหญ่ อาจใช้ลวดเส้นโตขึ้น ทำให้ความต้านทานลดลงได้ แต่โดยมาก หากขดลวดช๊อตรอบ จะวัดได้ต่ำมาก เป็น 100 โอห์ม หากวัดได้สูงกว่าไม่มีปัญหา เพราะใช้ขดลวดเล็กลงเพื่อประหยัด


ความคิดเห็น