ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร

                    เครื่องมือที่ใช้ในงานติดตั้งไฟฟ้าภายนอกอาคาร มีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะนําไปใช้ในงานที่แตกต่างกัน   เครื่องมือสำหรับงานติดตั้งไฟฟ้านอกอาคารโดยทั่วไปใช้สำหรับอำนวยความสะดวก   ช่วยให้ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงป้องกันอันตรายในขณะปฏิบัติงาน  ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้

  1. 1.              เครื่องมือพื้นฐานสำหรับช่างไฟฟ้า 
ในงานติดตั้งไฟฟ้านอกอาคาร  จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสำหรับช่างไฟฟ้า  โดยเฉพาะส่วนใหญ่เครื่องมือที่มีด้ามจับเป็นฉนวน  ซึ่งฉนวนนั้นมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน  เครื่องมือสำหรับช่างไฟฟ้ามีดังนี้
1.1  คีม (Pliers) คีมช่างไฟฟ้ามีอยู่หลายแบบ  เช่น คีมรวม คีมปากแหลม คีมตัด  คีมย้ำหางปลา  คีมปอกสายไฟ เป็นต้น ซึ่งคีมแต่ละแบบก็มีหน้าที่การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
       1.1.1  คีมรวม (Combination Plier)  เป็นคีมที่ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น จับสาย  ตัดสายไฟ  มีขนาดใหญ่กว่าคีมตัด  สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์
       1.1.2  คีมปากแหลม  (Long Nose Pliers) เป็นคีมที่ใช้จับอุปกรณ์เล็กๆ ที่ไม่สามารถจับด้วยมือในขณะทำงาน เช่น สายไฟ  น็อตสกรูและตะปูตอกเข็มขัดรัดสายไฟ

        1.1.3  คีมตัด (Cutting Pliers) ใช้สำหรับตัดสายไฟโดยเฉพาะมีอยู่ 3 ขนาดขนาดเล็กตัดสายไฟได้ไม่เกิน 4 ตารางมิลลิเมตร  ขนาดกลางตัดได้ตั้งแต่ 6 – 240 ตารางมิลลิเมตร  ขนาดใหญ่สามารถตัดสายไฟได้จนถึง 500 ตารางมิลลิเมตร
 
       1.1.4  คีมปอกสายไฟ (Cable Stripper) ใช้สำหรับปอกสายไฟ  โดยที่ปากจะทำเป็นร่องไว้ทั้งปากบนและปากล่าง  มีขนาดร่องใกล้เคียงกับสายไฟ
1.1.5  คีมย้ำหางปลา (Crimper) ใช้สำหรับย้ำขั้วต่อสายไฟที่เรียกว่าหางปลา 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก ใช้ย้ำหางปลาขนาดเล็กสุดจนถึงขนาด 10 ตารางมิลลิเมตร ขนาดกลาง  ใช้ย้ำหางปลาตั้งแต่ 6 - 80 ตารางมิลลิเมตร  ขนาดใหญ่ ใช้ย้ำหางปลาขนาด ตั้งแต่ 70 - 500 ตารางมิลลิเมตร
1.2  ไขควง  (Screw Driver)  ไขควงมีอยู่ 2 แบบ ตามลักษณะตัวสกรูได้แก่แบบปากสี่แฉกและแบบปากแบน  ซึ่งแต่ละแบบจะมีความยาวของเหล็ก (ไม่รวมด้าม ) ได้แก่   3”, 4”, 6”, 8”  และอาจจะมีใหญ่กว่านี้ตามความจําเป็นของงาน
1.3   ค้อน  (Hammer) ค้อนที่ใช้งานมีอยู่  3 แบบ
1.3.1  ค้อนช่างไฟฟ้า (Electrician  Hammer) มีขนาด 150, 200, 250, และ 300 กรัม ส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาด 200 - 250 กรัม ด้ามทำด้วยไม้
 1.3.2  ค้อนหงอน (Claw Hammer) ด้ามทำด้วยไม้หรือเหล็กหุ้มฉนวน ใช้ตีตะปูทั่วไป
 1.3.3  ค้อนปอนด์ หรือค้อนพะเนิน (Heavy Hammer) มีขนาด 1 – 8 ปอนด์  ใช้สำหรับทุบคอนกรีตต่าง ๆ
1.4  มีดปอกสาย (Wire Stripping Knife) มีดปอกสายไฟมีความสำคัญต่อช่างไฟฟ้ามาก  ถ้ามีดคมและแข็งแรง  ก็จะทำให้การปฏิบัติงานเร็วขึ้น  ตัวมีดจะต้องเป็นเหล็กอย่างดี เพราะเวลาปอกสายไฟ คมของมีดจะถูกทองแดงตลอดเวลาและด้ามมีดควรจะมียางหุ้ม  เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าได้

2.  เครื่องมือสำหรับปีนเสาไฟฟ้า
 เป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปีนเสาไฟฟ้า  เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานบนเสาไฟฟ้า
2.1  หมวกนิรภัย (Safety Helmet) ทำจากพลาสติกแข็งทนทานต่อการใช้งาน  ใช้สวมเพื่อป้องกันเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตกหล่นใส่ศีรษะ  หมวกที่ใช้มีด้วยกันหลายสี เช่น  เหลือง แดง ขาว ส้ม  ซึ่งแต่ละสีจะแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
2.2   ทำจากยาง  มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือสำหรับไฟฟ้าแรงต่ำ  และสำหรับไฟฟ้าแรงสูง  มีคุณสมบัติเป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า  ก่อนใช้งานควรตรวจสอบสภาพของถุงมือว่ามีการฉีกขาดหรือไม่  ถุงมือยางจะใช้งานร่วมกับถุงมือหนัง  โดยสวมถุงมือหนังทับถุงมือยางอีกชั้นหนึ่ง  เพื่อป้องกันการฉีกขาดของถุงมือยาง
 
2.3  ถุงมือหนัง (Leather Gloves)  ทำจากหนังเทียมหรือหนังสัตว์ สามารถใช้งานได้ 2 ลักษณะ คือ ใช้สวมกับถุงมือยาง  หรือใช้สวมโดยตรง  เพื่อป้องกันความคมของเหลี่ยมเสาไฟฟ้า

 
2.4 เข็มขัดนิรภัย (Safety Belt) ทำมาจากไนลอน ถักสานกันเป็นเส้น คุณสมบัติ คือ มีความเหนียว ทนทาน รับน้ำหนักตัวได้ดี ใช้คาดเอวเพื่อปฏิบัติงานในการปีนเสาไฟฟ้า
 
          2.4.1 ตัวเข็มขัด ซึ่งจะเป็นส่วนที่ใช้สำหรับคาดเอว  สามารถปรับระดับให้เหมาะสมกับเอวของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ทรงตัวได้ดีขณะปฏิบัติงาน

          2.4.2 สายกันตก ใช้คล้องกับเสาไฟฟ้า เป็นส่วนที่ใช้รับน้ำหนักตัวขณะปฏิบัติงานบนเสาไฟฟ้า  เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานเข็มขัดนิรภัย  ก่อนการใช้งานทุกครั้ง ควรตรวจสอบช่องใส่เครื่องมือในตัวเข็มขัด ห่วงกลมสำหรับห้อยเครื่องมือ และสายกันตกด้านที่เสียดสีกับเสาไฟฟ้า ว่ามีการสึกหรอ มีรอยร้าว และอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หรือไม่
2.5   รองเท้านิรภัย (Safety Shoes) ใช้สำหรับสวมขณะปฏิบัติงานบนเสาไฟฟ้าหรืองานไฟฟ้าทั่วไป
 
2.6 เหล็กปีนเสา (Pole Step) ใช้งานคู่กับรองเท้านิรภัย ก่อนทำการใช้งานควรตรวจสอบสภาพก่อน
 

2.7  ไม้ชักฟิวส์ (Hot Stick) สามารถปรับเลื่อนได้ตามต้องการ มีขอเกาะใช้สำหรับปลดฟิวส์ ผิวด้านนอกมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า  สามารถทนแรงดันไฟฟ้าได้ถึง 33 kV ถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบา
 

3.  เครื่องมือสำหรับงานปักเสาไฟฟ้า
     การปักเสาในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ การปักเสาจากการใช้แรงงาน  การปักเสาโดยการใช้เครื่องผ่อนแรง ซึ่งเครื่องมือสำหรับการขุดหลุมและปักเสาแบ่งออก เป็น 2 ชนิด คือ เครื่องมือขุดหลุมโดยใช้แรงงานคน  และเครื่องมือขุดหลุมและปักเสาโดยใช้เครื่องผ่อนแรง
3.1 เครื่องมือขุดหลุมโดยใช้แรงงานคน เป็นการขุดโดยอาศัยแรงงานคนโดยตรง  ซึ่งจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการขุดหลุมดังต่อไปนี้
          3.1.1 จอบ ใช้สำหรับขุดดินทุกชนิด
          3.1.2 ชะแลง ใช้สำหรับกระทุ้งดินแข็งหรือหินลูกรัง
          3.1.3 พลั่ว ใช้สำหรับตักดิน
                                  3.1.4 พลั่วหนีบดิน ใช้สำหรับหนีบดินจากก้นหลุมที่ลึก        
 3.2 เครื่องมือขุดหลุมและปักเสาโดยใช้เครื่องผ่อนแรง  จะใช้เครื่องผ่อนแรงเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการขุดหลุมและปักเสา เครื่องมือขุดหลุมและปักเสาโดยใช้เครื่องผ่อนแรงมีดังนี้
          3.2.1 สว่านมือขุดหลุม มีลักษณะคล้ายสว่านเจาะไม้  ใช้แรงงานคนหมุนด้ามสว่าน  ส่วนหัวสว่านก็จะเจาะลึกลงไปในดิน  เมื่อได้ระยะความลึกที่ต้องการหยุดการหมุนด้ามสว่าน  แล้วใช้รถดึงสว่านขึ้น
          3.2.2  รถขุดหลุม เป็นรถบรรทุกติดตั้งสว่านขนาดใหญ่ที่ตัวรถ ใช้ระบบ ไฮดรอลิกส์และเครื่องจักรกลในการขุดหลุม
          3.2.3  รถยนต์ไฮดรอลิกส์  เนื่องจากเสาไฟฟ้าที่ใช้ในปัจจุบันเป็นเสาคอนกรีตอัดแรง  มีน้ำหนักมาก ดังนั้นวิธีการเคลื่อนย้ายจึงต้องใช้รถยกและลากด้วยลวดสลิง
          3.2.4  เครื่องมือกระทุ้งดิน  ได้แก่ จอบ  เสียม และเครื่องกระทุ้งดินแบบเครื่องยนต์ 
4.  เครื่องมือสำหรับงานพาดสายและดึงสาย
วัตถุประสงค์ของเครื่องมือในการดึงสายไฟฟ้า คือ จะช่วยให้ดึงสายได้ระยะพอดี ไม่ตึง หรือหย่อนเกินไป  เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย
4.1  แม่แรงดึงสาย (Coffing Hoist) หรือ ฮอยส์ (Hoist) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับดึงสายไฟฟ้าให้ตึง  ลักษณะโดยทั่วไปประกอบด้วยตะขอเกี่ยว 2 ข้าง โดยข้างหนึ่งใช้เกี่ยวเสาไฟฟ้า อีกข้างหนึ่งสำหรับเกี่ยวกับคัมอะลองเพื่อจับยึดสายไฟฟ้า
4.2  แคลมป์ดึงสาย (Wire Grip) หรือ คัมอะลอง (Comalong) มีหน้าที่จับยึดสายไฟฟ้าใช้งานร่วมกับฮอยส์  มีส่วนประกอบด้วยกัน 2 ส่วน คือ ปากจับสายไฟฟ้า และห่วงสำหรับยึดกับแม่แรงดึงสาย
4.3  รอก (Pulley) เป็่นเครื่องมือช่วยในการผ่อนแรง มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบแรกใช้ในการส่งของที่มีน้ำหนักมากขึ้นสู่ข้างบน  และจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง
ส่วนอีกแบบจะเป็นรอกที่ใช้สำหรับการพาดสาย เพื่อรองรับน้ำหนักของสายไฟฟ้าระหว่างการพาดสายเป็นช่วงๆ
4.4  เชือก ใช้ในการดึงวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือขึ้นลงในแนวดิ่งใช้งานร่วมกับรอก
4.5 รถยนต์ไฮดรอลิกส์ ใช้สำหรับยกวัสดุอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก 
5.  เครื่องมือวัดและทดสอบ
     ใช้ในการตรวจสอบความชำรุดเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้า  ไปจนถึงการตรวจสอบระบบไฟฟ้า  หลังจากทำการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ซึ่งเครื่องมือวัดและทดสอบ  มีดังนี้
5.1 แคลมป์มิเตอร์ ใช้สําหรับวัดกระแสไฟฟ้าค่าสูง ๆ
 5.2 มัลติมิเตอร์  ใช้วัดแรงดันไฟฟ้า  ความต้านทานและกระแสค่าต่ำ
 5.3 เมกเกอร์ หรือ Insulation Tester ใช้สําหรับทดสอบความเป็นฉนวน
 5.4 Earth Resistance Tester ใช้สําหรับทดสอบความต้านทานของดิน

อ้างอิง : http://electrical58.blogspot.com/2018/10/blog-post.html

ความคิดเห็น