โคมไฟฟ้า
โคมไฟฟ้าทำหน้าที่บังคับทิศทางแสงของหลอดให้ไปในทิศทางที่ต้องการ โคมไฟฟ้ามีใช้กันมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่กับการใช้งาน สำหรับโคมไฟฟ้ากับการประหยัดพลังงาน ในที่นี้จะกล่าวถึงโคมไฟฟ้าที่ใช้ภายในอาคาร เพราะมีการนำมาใช้งานกันมาก จำเป็นต้องเลือกโคมไฟฟ้าที่สามารถประหยัดพลังงานและมีคุณภาพที่ดี
4.1 ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการเลือกโคมไฟฟ้า
4.1.1 ความปลอดภัยของโคม
โคมไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ด้วย เช่น ต้องไม่มีคมจนอาจเกิดอันตราย ต้องมีระบบการต่อลงดินในกรณีที่ใช้กับฝ้าสูงเพื่อไม่เป็นอันตรายกับคนที่มาเปลี่ยนหลอด
4.1.2 ประสิทธิภาพของโคมไฟฟ้า (Luminaire efficiency)
โคมไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานหมายถึงโคมที่มีประสิทธิภาพของโคมสูงที่สุด คือ ให้ปริมาณแสงออกมาจากตัวโคมเมื่อเทียบกับปริมาณแสงที่ออกจากหลอดให้มีค่าสูงที่สุด
4.1.3 ค่าสัมประสิทธิ์การใช้งานของโคมไฟฟ้า (Coefficients of Utilization)
ค่าที่ได้จากการวัดประสิทธิภาพของโคม โดยที่รวมผลของความสูงและสัมประสิทธิของการสะท้อนของผนังและเพดานโดยผู้ผลิต
4.1.4 แสงบาดตาของโคม (Glare)
เป็นค่าที่แสดงคุณภาพแสงของโคม ต้องเลือกโคมที่มีแสงบาดตาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
4.1.5 กราฟการกระจายแสงของโคม (Distribution Curve)
โคมมีหลายชนิดด้วยกันแต่ละโคมก็มีกราฟกระจายแสงของโคมต่างกัน การนำโคมไปใช้ต้องเลือกกราฟกระจายแสงของโคมที่เหมาะสมกับงาน
4.1.6 การระบายความร้อนของโคม
โคมไฟฟ้าทีประหยัดพลังงานควรจะมีการระบายความร้อนได้ดี ถ้ามีอุณหภูมิสะสมในโคมมากเกินไปอาจทำให้ปริมาณแสงที่ออกจากหลอดลดลง เช่น โคมไฟส่องลงหลอดคอมแพคก์ถ้าไม่มีการระบายความร้อนที่ดีปริมาณลดลงถึง 40% เป็นต้น
4.1.7 อายุการใช้งาน
โคมไฟฟ้าทีประหยัดพลังงานต้องพิจารณาอายุการใช้งานด้วย เช่น โคมต้องทำด้วยวัสดุที่สามารถใช้งานได้นานตามที่ต้องการโดยไม่ผุกร่อน และไม่มีการเปลี่ยนรูปเมื่อมีการบำรุงรักษาเนื่องจากการเปลี่ยนหลอดหรือทำความสะอาด
4.1.8 สถานที่ติดตั้ง
การเลือกใช้โคมแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับว่าต้องการนำไปใช้งานอะไรบ้างต้องการคุณภาพแสงมากน้อยเพียงใด หรือเน้นในเรื่องของปริมาณแสงแต่เพียงอย่างเดียว ต้องมีการป้องกันทางกล ป้องกันน้ำ ฝุ่นผงมากน้อยเพียงใด
4.2 โคมไฟส่องลง (Downlight)
โคมไฟส่องลง หมายถึง โคมไฟที่ให้แสงลงด้านล่าง เหมาะสำหรับใช้งานส่องสว่างทั่วไปอาจจะเป็น ชนิดฝัง ติดลอย แขวน หรือ กึ่งฝังกึ่งลอย ดังในรูป 4.1
รูปที่ 4.1 แสดงโคมไฟส่องลงชนิดต่างๆกัน
4.2.1 โคมไฟส่องลงหลอดอินแคนเดสเซนต์
ก) ใช้กับงานเฉพาะที่ต้องการความสวยงาม หรือเปิดใช้เป็นครั้งคราว
ข) ใช้กับงานที่ต้องการปรับหรี่แสง
4.2.2 โคมไฟส่องลงหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์
ก) ใช้กับงานที่ต้องการเปิดใช้งานนานๆ
ข) โคมไฟที่ใช้เป็นชนิดที่ถูกออกแบบมาสำหรับหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์โดยเฉพาะ
ค) โคมไฟส่องลงหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ มี 2 แบบ คือหลอดติดตั้งในแนวนอน และหลอดติดตั้งในแนวตั้ง
ค1) หลอดติดตั้งในแนวนอน มีข้อดี คือ การกระจายแสงออกจากโคมมากกว่าหลอดติดตั้งในแนวนอนแต่ต้องระวังเรื่องการระบายความร้อนและการเปลี่ยนหลอด
ค2) หลอดติดตั้งในแนวตั้ง มีข้อดี คือ ไม่มีปัญหาเรื่องการระบายความร้อน แต่ต้องระวังเรื่องแสงบาดตา
รูปที่ 4.2 แสดงลักษณะของโคมหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์หลอดติดตั้งแนวนอน
รูปที่ 4.3 แสดงลักษณะของโคมหลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์หลอดติดตั้งแนวตั้ง
4.2.3 โคมไฟส่องลงหลอดปล่อยประจุความเข้มสูง
ก) ใช้กับงานที่มีความส่องสว่างสูง หรือบริเวณที่เพดานสูง
ข) ใช้กับงานที่ต้องการเปิดใช้งานนานๆ
ค) ใช้เวลาในการจุดหลอดนานประมาณ 3-10 นาที
4.2.4 ข้อควรระวัง
การเปลี่ยนหลอดประหยัดพลังงานแทนหลอดอินแคนเดสเซนต์ภายในโคมเดิม
ก) ให้ระวังเรื่องแสงบาดตา และการระบายความร้อน ถ้าการระบายความร้อนไม่ดีปริมาณแสงอาจจะลดลงถึง 40% และอายุการใช้งานหลอดสั้นลง
ข) การกระจายแสงและประสิทธิภาพของโคมโดยทั่วไปลดลง
4.3 โคมไฟส่องขึ้น
โคมไฟส่องขึ้น หมายถึง โคมไฟที่ให้แสงขึ้นไปด้านบนเพื่อให้แสงสะท้อนที่เพดาน และแสงดังกล่าวก็จะตกกระทบมาที่พื้นที่ทำงาน
โคมดังกล่าวเหมาะสำหรับงานที่เพดานสูง และเพดานมีสีอ่อน ใช้กับบริเวณที่ต้องการความสม่ำเสมอของแสง สำหรับบริเวณที่ความส่องส่องน้อยประมาณ 200-300 ลักซ์ และสำหรับห้องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ต้องการแสงสะท้อนเนื่องจากโคมไฟส่องลง
โคมดังกล่าวมีหลายชนิดด้วยกันดังแสดงในรูปที่ 4.4
โคมไฟส่องขึ้นมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) มีความสม่ำเสมอของแสงและทำให้ห้องที่แคบมีความรู้สึกกว้างและมีบรรยากาศดี
ข) โคมไฟส่องขึ้นโดยทั่วไปให้ประสิทธิภาพต่ำ แต่มีคุณภาพแสงสูงคือไม่มีแสงบาดทำให้เหมาะกับงานที่ต้องการคุณภาพแสงสูง เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ศูนย์ควบคุม
ค) การใช้โคมไฟดังกล่าวเพดานต้องสูงมากกว่า 2.7 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ไม่เกิดความร้อนที่เพดาน และไม่สว่างจ้าเกินไป
4.4 โคมฟลูออเรสเซนต์
หลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดไฟที่ใช้กันมากเพราะมีค่าประสิทธิผลการส่องสว่างสูง (Luminous Efficacy) โคมไฟสำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์จึงมีหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานแต่ละชนิดแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถสรุปเป็นชนิดหลักๆได้ดังนี้
ก) โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย (Bare Type Luminaires)
ข) โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน (Industrial Luminaire)
ค) โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสง (Diffuser Luminaire)
ง) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรง (Louver Luminaire)
4.4.1 โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย (Bare Type Luminaires)
โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือยใช้กับงานที่ต้องการแสงออกด้านข้างที่ติดตั้งสำหรับเพดานที่ไม่สูงมากนักโดยทั่วไปไม่เกิน 4 เมตร และไม่พิถีพิถันมากนักกับแสงบาดตาจากหลอด เช่น ห้องเก็บของ ที่จอดรถ พื้นที่ที่มีชั้นวางของ ที่จอดรถ และในพื้นที่ใช้งานไม่บ่อยและไม่ต้องการความสวยงามมาก
รูปที่ 4.5 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์เปลือย
โคมฟลูออเรสเซนต์เปลือยมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาถูก ทำความสะอาดง่าย และให้แสงสว่างในทุกทิศทาง
ข) โคมดังกล่าวไม่มีตัวครอบวัตถุภายนอกสามารถมากระแทกกับหลอดทำให้หลอดหลุดร่วงลงมาได้
ค) โคมดังกล่าวมีแสงบาดตาจากหลอด
4.4.2 โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน
โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงานเป็นโคมที่มีแผ่นสะท้อนแสงเพื่อควบคุมแสงให้ไปในทิศทางที่ต้องการ แผ่นสะท้อนแสงอาจทำจากแผ่นอลูมิเนียม แผ่นเหล็กพ่นสีขาว หรือวัสดุอื่นที่มีการสะท้อนแสงสูง
รูปที่ 4.6 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์โรงงาน
โคมฟลูออเรสเซนต์โรงงานมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาถูกกว่าโคมหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบเปลือย ทำความสะอาดง่ายและให้แสงสว่างมากในทิศทางที่ส่องไป
ข) โคมดังกล่าวไม่มีตัวครอบวัตถุภายนอกสามารถมากระแทกกับหลอดทำให้หลอดสามารถหลุดร่วงลงมาได้
ค) โคมดังกล่าวไม่เน้นความสวยงาม และมีแสงบาดตาจากหลอด
4.4.3 โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสง (Diffuser luminaire)
โดยทั่วไปแผ่นกรองแสงมี 3 แบบด้วยกันคือ
1. แบบเกร็ดแก้ว (Prismatic diffuser)
2. แบบขาวขุ่น (Opal diffuser)
3. แบบผิวส้ม (Stipple diffuser)
โคมไฟดังกล่าวมีแผ่นกรองแสงปิดหลอดทั้งหมดเพื่อลดแสงบาดตาจากหลอด โคมประเภทนี้มีทั้งแบบติดฝังฝ้าหรือติดลอยหรือแบบตัวยู (U-shape) อาจเพิ่มแผ่นสะท้อนแสงอลูมิเนียมแบบเงา (Specular surface) หรือ แบบกระจายแสง (Diffuser surface) ที่ด้านหลังหลอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโคมไฟ โดยทั่วไปจะแนะนำเป็นแบบกระจายแสงที่มีค่าการสะท้อนแสงโดยรวมสูงเท่ากับแบบเงา โคมไฟประเภทนี้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการแสงบาดตาจากหลอดต่ำและไม่ต้องการความเข้มส่องสว่างสูงมากนัก เช่น ในพื้นที่โรงพยาบาลที่ไม่ให้แสงรบกวนคนไข้ ห้องประชุมที่ไม่ต้องการแสงบาดตาและแสงสว่างมาก
ก) แบบเกร็ดแก้ว ข) แบบขาวขุ่น
รูปที่ 4.7 แสดงตัวอย่างรูปโคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสงแบบฝังฝ้า
โคมฟลูออเรสเซนต์กรองแสงมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมดังกล่าวมีราคาไม่สูงมากและแสงบาดตาจากหลอดน้อย
ข) โคมดังกล่าวมีประสิทธิภาพต่ำไม่เหมาะกับการประหยัดพลังงาน
ค) โคมดังกล่าวเหมาะกับงานที่ไม่ต้องการแสงบาดตาจากหลอด เช่น โรงพยาบาล
ง) โคมดังกล่าวเหมาะใช้กับงานกับห้อง Clean room และห้องเพดานต่ำ เช่น ห้องที่มีความสูงประมาณ 2.3 เมตร เป็นต้น
4.4.4 โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรง (Louver luminaire)
โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงมีทั้งแบบติดลอยและฝังฝ้า ลักษณะของโคมไฟประกอบด้วยแผ่นสะท้อนแสงด้านข้างและอาจมีแผ่นสะท้อนแสงด้านหลังหลอดเพิ่มเข้ามาเพื่อสะท้อนแสงและควบคุมแสงให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ส่วนตัวขวางจะสามารถลดแสงบาดตา เช่น ในมุมที่เลย มุมตัดแสง โดยทั่วไปแผ่นสะท้อนแสงและตัวขวางจะทำจากอลูมิเนียม (Anodized) ซึ่งมีทั้งแบบเงา (Specular Surface) และแบบกระจาย(Diffuser Surface) ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบโคมไฟและลักษณะการใช้งานของโคมไฟนั้น ซึ่งโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงมีส่วนประกอบต่างๆดังแสดงในรูปที่ 4.8
รูปที่ 4.8 แสดงส่วนประกอบของโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรง
โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิดคือ
ก) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวาง (Profile Mirror Louver Luminaire)
ข) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบพาราโบลิกจตุรัส (Square Parabolic Louver Luminaire)
ค) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบช่องถี่ (Mesh Louver Luminaire)
4.4.4.1 โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวาง มีตัวขวาง 3 แบบด้วยกันคือ ตัวขวางริ้ว ตัวขวางเรียบ และ ตัวขวางพาราโบลิกคู่ ซึ่งเมื่อพิจารณาคุณภาพแสงตามแนวยาวของโคมดังกล่าวแบบตัวขวางพาราโบลิกคู่จะมีแสงบาดตาน้อยกว่าแบบตัวขวางริ้วหรือแบบตัวขวางเรียบ และแสงบาดตาของแบบตัวขวางริ้วใกล้เคียงกับแบบตัวขวางเรียบ ซึ่งโคมดังกล่าวทั้ง 3 แบบมีรายละเอียดดังนี้
ก) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางริ้ว เป็นโคมไฟที่มีตะแกรงทำขึ้นจากแผ่นสะท้อนแสงอลูมิเนียมตามแนวยาวของหลอด โดยจะแบ่งช่องตามแนวยาวให้เท่ากับจำนวนหลอด ส่วนตามแนวขวางของหลอดจะมีตัวขวางแบ่งเป็นช่องๆซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งโดยประมาณเป็น 14 ช่องสำหรับโคมยาว 1.2 เมตร และ 7 ช่อง สำหรับโคมยาว 0.6 เมตร ซึ่งจำนวนช่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและผู้ผลิตแต่ละราย ซึ่งตัวขวางของโคมทำหน้าที่ หักเหแสงและจัดมุมภาพของหลอดเพื่อลดแสงบาดตา
รูปที่ 4.9 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางริ้ว
โคมไฟชนิดนี้โดยทั่วไปนิยมใช้ในพื้นที่สำนักงานที่มีการใช้จอคอมพิวเตอร์น้อย ให้ดูชนิดของโคมที่ใช้กับจอคอมพิวเตอร์ในภาคผนวก ง.
โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางริ้วมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) เป็นโคมไฟที่มีประสิทธิภาพสูง 60-80% (ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวัสดุที่ใช้ในการผลิต)
ข) โดยทั่วไปค่า S/H สูง จึงสามารถทำให้ใช้จำนวนโคมน้อยสำหรับความส่องสว่างที่สม่ำเสมอโดยทั่วพื้นที่
ค) เหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่สำนักงานและพื้นที่ทำงานทั่วไป
ง) ห้องทำงานที่มีจอคอมพิวเตอร์ หรือ ห้องควบคุมที่มีจอมอนิเตอร์ ให้ระวังการใช้โคม ประเภทนี้เพราะแสงบาดตาจากโคมอาจจะปรากฏบนจอคอมพิวเตอร์ หรือ จอ
จ)มอนิเตอร์ได้ (ให้ดูในภาคผนวก ง.)
ฉ) ถ้าใช้วัสดุในการผลิตแผ่นสะท้อนแสงที่มีคุณภาพสูงจะสามารถลดแสงสีรุ้งที่เกิดจากหลอดฟลูออเรสเซนต์
ข) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางเรียบ เป็นโคมไฟที่มีคุณสมบัติเหมือนโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางริ้ว
ค) โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางพาราโบลิกคู่ เป็นโคมไฟที่มีตัวสะท้อนแสงทั้งตามแนวยาวและแนวขวางกับหลอดขึ้นเป็นรูปโค้งพาราโบลิก (Parabolic curve) โดยจะแบ่งช่องตามแนวยาวให้เท่ากับจำนวนหลอด ส่วนตามแนวขวางของหลอดจะมีตัวขวางแบ่งเป็นช่องๆซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะแบ่งโดยประมาณเป็น 14 ช่องสำหรับโคมยาว 1.2 เมตร และ 7 ช่อง สำหรับโคมยาว 0.6 เมตร ซึ่งจำนวนช่องนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและผู้ผลิตแต่ละราย โคมไฟนี้โดยส่วนมากมีแสงบาดตาน้อยกว่าแบบตัวขวางริ้วจึงเหมาะสำหรับการใช้งานในพื้นที่สำนักงานที่มีจอคอมพิวเตอร์อยู่เกือบทั่วพื้นที่ที่ต้องการแสงบาดตาน้อย เช่น ห้องประชุม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
รูปที่ 4.10 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางแบบพาราโบลิกคู่
โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบตัวขวางพาราโบลิกคู่มีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) เป็นโคมไฟที่มีประสิทธิภาพสูง 60-80% (ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวัสดุที่ใช้ในการผลิต)
ข) โดยทั่วไปค่า S/H สูงพอประมาณ จึงสามารถทำให้ใช้จำนวนโคมน้อยสำหรับความส่องสว่างที่สม่ำเสมอโดยทั่วพื้นที่
ค) แสงบาดตาจากโคมไฟน้อยเหมาะกับการใช้ในพื้นที่สำนักงานที่มีจอคอมพิวเตอร์ทำงานอยู่ทั่วพื้นที่
ง) ถ้าใช้วัสดุในการผลิตแผ่นสะท้อนแสงที่มีคุณภาพสูงจะสามารถลดแสงสีรุ้งที่เกิดจากหลอดฟลูออเรสเซนต์
4.4.4.2 โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบพาราโบลิกจตุรัส เป็นโคมตะแกรงที่ประกอบจากแผ่นสะท้อนแสงทั้งตามแนวหลอดและแนวขวางหลอดเป็นส่วนโค้ง (Parabolic) ประกอบการขึ้นเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพื่อลดแสงบาดตาจากหลอด วัสดุที่ใช้ส่วนมากจะเป็นแบบเงา (Specular surface) หรือ แบบกระจายแสง (Diffuser surface) เป็นโคมไฟที่นิยมใช้ในพื้นที่ที่ต้องการแสงนุ่มและแสงบาดตาน้อย เช่น ในห้องประชุมระดับผู้บริหาร ห้องผู้บริหาร ห้องประมวลผลข้อมูล ห้องแสดงสินค้า
รูปที่ 4.11 แสดงตัวอย่างโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบพาราโบลิกจตุรัส
โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบพาราโบลิกจตุรัสมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) เป็นโคมไฟที่ให้แสงนุ่ม และแสงบาดตาน้อย
ข) พื้นที่ระดับเพดานหรือผนังที่ใกล้เพดานจะมืดเพราะ มุมตัดแสง ของโคมไฟแคบจึงควรระวังในการวางตำแหน่งโคมไฟ
ค) โคมไฟชนิดนี้ให้ประสิทธิภาพแสงต่ำกว่าแบบตัวขวางน้อย แต่คุณภาพแสงดีกว่า
4.4.4.3 โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงแบบช่องถี่ เป็นโคมฟลูออเรสเซนต์ที่มีตะแกรงถี่มาก อยู่ในเกณฑ์ประมาณ หนึ่งนิ้วหรือน้อยกว่า ตะแกรงดังกล่าวอาจทำจากวัสดุที่เป็นอลูมิเนียม หรือวัสดุอย่างอื่น ซึ่งมีทั้งแบบตะแกรงขาวธรรมดา หรือเป็นสีเงินเพื่อความสวยงาม ลายตะแกรงอาจเป็นสีเหลี่ยม หรือวงกลม หรือหกเหลี่ยม หรือลายสวยงามอย่างอื่น โคมฟลูออเรสเซนต์แบบนี้ไม่ประหยัดพลังงาน แต่เน้นทางด้านความสวยงามหรือไม่ก็เน้นทางด้านคุณภาพแสง เพราะให้แสงบาดตาน้อย ใช้ในพื้นที่จำเป็นที่ไม่ต้องการแสงบาดตา หรือบริเวณที่ต้องการความสวยงาม เช่น เคาน์เตอร์ต้อนรับ หรือประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ก) เป็นโคมไฟที่มีประสิทธิภาพไม่สูงเมื่อเทียบกับโคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงอย่างอื่นโดยทั่วไป ค่าระยะห่างระหว่างโคมไฟ ต่อ ความสูงเหนือระนาบทำงาน (S/H) มีค่าต่ำจึงใช้จำนวนโคมมากสำหรับความสว่างที่สม่ำเสมอโดยทั่วพื้นที่
ข) ไม่เหมาะกับพื้นที่เพดานต่ำเพราะเมื่อใช้โคมไฟชนิดนี้จะทำให้เพดานมืด
ค) โคมไฟชนิดนี้ให้แสงบาดตาน้อยเหมาะใช้กับพื้นที่ที่มีจอคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ประหยัดพลังงานและบำรุงรักษายาก
4.5 โคมไฟโรงงานหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง
โคมไฟประเภทนี้โดยส่วนมากจะมีตัวสะท้อนแสงเป็นแบบอลูมิเนียม (Aluminium Reflector) หรือ ตัวหักเหแสงพลาสติก (Plastic Reflactor) อาจจะมีเลนส์ ปิดหน้าหลอดก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการใช้งานในแต่ละอุตสาหกรรม ความสูง การกระจายแสงของโคมไฟที่ต้องการ ซึ่งการกระจายแสงของโคมไฟมี 2 ลักษณะดังนี้
4.5.1 โคมแบบลำแสงกว้าง (Wide Beam) เหมาะสำหรับการติดตั้งที่ความสูงระดับ 4-7 เมตร
4.5.2 โคมแบบลำแสงแคบ (Narrow Beam) เหมาะสำหรับการติดตั้งที่ความสูงประมาณ 6 เมตรขึ้นไป
นอกจากนี้โคมดังกล่าวจะรูปแบบของแสงเป็นรูปต่างๆ เช่น วงกลม หรือ สี่เหลี่ยม เป็นต้น ซึ่งลักษณะรูปแบบของโคมจะเป็นดังรูปที่ 4.13
ก) แสงสว่างไม่สม่ำเสมอ ข) แสงสว่างสม่ำเสมอ ค) แสงสว่างสม่ำเสมอมาก
รูปที่ 4.13 แสดงรูปแบบการกระจายแสงของโคมไฟโรงงานหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง
จากรูปที่ 4.13 โคมแบบการกระจายแสงวงกลมเหมาะสำหรับใช้ในพื้นที่ที่ไม่กว้างมาก หรือ พื้นที่ที่ไม่พิถีพิถันกับความสม่ำเสมอของแสง
ส่วนโคมแบบกระจายแสงสี่เหลี่ยมเหมาะสำหรับใช้พื้นที่ที่กว้างและต้องการความสม่ำเสมอของแสงโดยทั่วพื้นที่ ซึ่งจะทำให้สามารถประหยัดโคมไฟและจำนวนหลอดได้ดีกว่าการเลือกโคมไฟแบบการกระจายแสงแบบวงกลม
การเลือกใช้กำลังไฟฟ้าของหลอดปล่อยประจุความดันไอสูงนั้นจะต้องคำนึงถึงความสูงในการติดตั้งตารางข้างล่างนี้เป็นตารางที่แนะนำให้ใช้เท่านั้น เพื่อความละเอียดและถูกต้องควรจะเลือกและคำนวณจากข้อมูลและกราฟของโคมไฟแต่ละชนิด
ตารางที่ 4.1 กำลังไฟฟ้าของหลอดปล่อยประจุความดันไอสูงกับความสูงต่ำสุดสำหรับการติดตั้ง
ชนิดและกำลังไฟ้าของหลอด
|
ความสูงต่ำที่สุดสำหรับการติดตั้ง (เมตร)
|
หลอดเมทัลฮาไลด์ 250 วัตต์
หลอดเมทัลฮาไลด์ 400 วัตต์
หลอดเมทัลฮาไลด์ 1000 วัตต์
หลอดไอปรอท 250 วัตต์
หลอดไอปรอท 400 วัตต์
หลอดไอปรอท 1000 วัตต์
หลอดโซเดียมความดันสูง 250 วัตต์
หลอดโซเดียมความดันสูง 400 วัตต์
หลอดโซเดียมความดันสูง 1000 วัตต์
|
4
5
6
4
5
6
4
6
8
|
รูปที่ 4.12 แสดงตัวอย่างโคมไฟโรงงานหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง
โคมไฟโรงงานหลอดปล่อยประจุความดันไอสูงมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ควรพิจารณาดังนี้
ก) โคมไฟชนิดนี้มีน้ำหนักมาก การติดตั้งต้องให้มั่นคงแข็งแรงเหมาะสำหรับการติดตั้งในบริเวณเพดานสูง แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์
ข) โคมต้องมีครอบแก้วปิดในกรณีที่ใช้ในพื้นที่ที่เกิดอันตรายมากเมื่อหลอดแตกที่ผู้ผลิตแนะนำ
ค) การใช้วัตต์ต่างกันในพื้นที่เดียวกันให้ระวังสีของหลอดที่แตกต่างกัน
ง) การเลือกใช้หลอด ชุดควบคุมให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพราะไม่ฉะนั้นอาจจะทำให้อายุการใช้งานสั้น แสงไม่ได้ตามที่ต้องการ สีเพี้ยน และไม่ประหยัดพลังงาน
4.6 โคมไฟสาด
โคมไฟสาดโดยทั่วไปใช้สำหรับงานส่องเน้นสถาปัตยกรรมตัวอาคาร หรือเพื่อการส่องสว่างสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น สนามกีฬา ลานจอดรถ สถานที่ก่อสร้าง บริเวณขนถ่ายสินค้า เป็นต้น
4.6.1 คุณลักษณะทางกลศาสตร์ เนื่องจากโคมไฟสาดติดตั้งอยู่ภายนอกอาคาร ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
4.6.1.1 ความสามารถในการป้องกันน้ำและฝุ่นผง อย่างน้อยควรมีค่า IP54 (ดูตารางที่ 1.2)
4.6.1.2 วัสดุที่ใช้ทำตัวโคม ต้องเป็นวัสดุที่ทนการสึกกร่อนได้ดี มีความแข็งแรงและทนทานต่อการกระแทก โดยทั่วไปโครงสร้างของโคมทำจากอะลูมิเนียมหล่อ ขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์ (Die-Cast Aluminium)
4.6.1.3 กระจกที่ปิดหน้าโคมไฟสาด ต้องเป็นกระจกนิรภัยทนความร้อนที่เหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคาร
4.6.1.4 น้ำหนักของโคมกับสถานที่ติดตั้ง โคมไฟสาดที่ติดตั้งในที่สูง-โล่ง ควรคำนึงถึงแรงปะทะของลม
4.6.2 คุณลักษณะทางแสง
4.6.2.1 การกระจายแสงของโคม แบ่งประเภทของโคมไฟสาดได้ ตามกราฟการกระจายแสงของโคมตามที่ CIE 43 (TC-2.4) 1979 กำหนดคือ
ก) การกระจายแสงสมมาตรสมบูรณ์ (Rotationally Symmetric distribution)
โคมที่มีการกระจายแแสงสมมาตรสมบูรณ์นี้มีโครงสร้างง่ายเหมาะสำหรับงานไฟสาดทั่วไปที่ไม่ได้เน้นความสม่ำเสมอของแสงมาก
ข) การกระจายแสงสมมาตร 2 ระนาบ (Distribution symmetrical about two planes)
โคมที่มีการกระจายแสงสมมาตร 2 ระนาบ เหมาะกับงานที่ต้องการความส่องสว่างสม่ำเสมอดีกว่าแบบ ก)
ค) การกระจายแสงสมมาตร 1 ระนาบ (Distribution symmetrical about one plane)
โคมที่มีการกระจายสมมาตร 1 ระนาบ เหมาะกับงานที่ต้องการความส่องสว่างสม่ำเสมอและมีการสาดไประยะไกล
ง) การกระจายแสงไม่สมมาตร (Asymmetric Distribution)
การเลือกใช้โคมที่มีการกระจายแสงไม่สมมาตรขึ้นอยู่กับลักษณะงานซึ่งกราฟกระจายแสงของโคมอาจมีรูปร่างต่างกันไป
4.6.2.2 มุมลำแสง แบ่งประเภทของโคมไฟสาดได้ ตามมุมลำแสงตามที่ NEMA กำหนด คือ
ก) มุมกว้าง เหมาะสำหรับสาดอาคารที่ไม่สูง มีพื้นที่ด้านข้างมากๆ มีระยะที่สาดไม่ไกลนัก
ข) มุมปานกลาง เหมาะสำหรับระยะสาดปานกลาง
ค) มุมแคบ เหมาะสำหรับสาดอาคารสูง มีระยะที่สาดไกล
รูปที่ 4.13 แสดงการแบ่งมุมลำแสงของโคมไฟสาดตาม NEMA Field Angle
ตารางที่ 4.2 มุมลำแสงสัมพันธ์กับระยะที่สาด
ชนิดลำแสง
|
ย่านมุมลำแสง
|
ระยะที่สาด
|
1
2
3
4
5
6
7
|
10-18
18-29
29-48
48-70
70-100
100-130
130 ขึ้นไป
|
70 เมตร หรือมากกว่า
60-70 เมตร
53-60 เมตร
44-53 เมตร
30-44 เมตร
24-30 เมตร
ต่ำกว่า 24 เมตร
|
4.6.3 รูปทรงของโคมไฟสาด ที่พบเห็นกันโดยทั่วไปจะมีรูปทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงกลม
4.6.3.1 โคมไฟสาดทรงสี่เหลี่ยม มักมีตัวถังห่อหุ้มที่มีความแข็งแรงทนทานต่อแรงกระแทกได้ดีกว่าแบบทรงกลม จึงเหมาะกับการติดตั้งในที่ที่ผู้คนสามารถผ่านไปมาและอาจจะทำให้ตัวโคมเสียหายได้ โดยทั่วไปโคมรูปทรงนี้จะมีน้ำหนักมากและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะที่ติดตั้งในที่สูง-โล่ง เพราะจะได้รับแรงปะทะจากลมสูงมาก
4.6.3.2 โคมไฟสาดทรงกลม มักมีตัวถังห่อหุ้มเฉพาะอุปกรณ์ควบคุมและขั้วหลอดเท่านั้น แต่ในส่วนของตัวสะท้อนแสงจะไม่มีตัวถังห่อหุ้ม โดยทั่วไปจะมีเลนส์ปิดข้างหน้าเพื่อป้องกันหลอดอีกชั้นหนึ่ง โคมไฟสาดทรงกลมมีรูปร่างกะทัดรัดและมีน้ำหนักไม่มาก เหมาะสำหรับติดตั้งในที่สูง-โล่ง เช่น บนเสาสูงสำหรับสนามกีฬา
4.6.4 โคมและหลอดกับการเลือกใช้
โคมไฟสาดอาจใช้หลอดทังสเตนฮาโลเจน หรือหลอดปล่อยประจุความดันไอสูงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน การเลือกใช้โคมและหลอดให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการใช้งานจะช่วยประหยัดพลังงานได้
ก) การส่องป้ายโฆษณา หรือสถานที่ก่อสร้าง ที่ใช้โคมไฟสาดหลอดทังสเตนฮาโลเจน เนื่องจากโคมมีราคาถูก แต่มีปัญหาเรื่องอายุการใช้งานของหลอดสั้นและต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ไม่ประหยัดพลังงาน (งานที่ต้องการให้เปิดไฟแสงสว่างได้ทันที ต้องใช้หลอดและโคมประเภทนี้ ถึงแม้จะไม่ประหยัดพลังงานก็ตาม)
ข) การส่องเน้นสถาปัตยกรรมตัวอาคาร ต้องพิจารณาความส่องสว่างรอบข้างเพื่อเลือกขนาดวัตต์และจำนวนของโคม การใช้โคมไฟสาดหลอดปล่อยประจุความดันไอสูง ต้องเลื่อกสีของแสงที่ได้จากหลอดให้เหมาะสมกับสีของสถาปัตยกรรมที่ต้องการส่องเน้น เช่น หลอดเมทัลฮาไลด์ ให้แสงสีขาว หลอดโซเดียมความดันสูง ให้แสงสีเหลืองทอง
ค) การส่องสว่างสนามกีฬาที่ต้องการความส่องสว่างและความถูกต้องของสีสูงเพื่อการถ่ายทอดโทรทัศน์ ควรใช้หลอดเมทัลฮาไลด์
ง) การส่องสว่างสนาม ลานจอดรถ บริเวณขนถ่ายสินค้า ที่ไม่ต้องการความถูกต้องของสีมาก แนะนำให้ใช้หลอดโซเดียมความดันสูง
4.6.5 ข้อควรระวัง
ก) เนื่องจากหลอดที่ใช้กับโคมไฟสาดที่ให้ความเข้มแสงสูงมากอาจเป็นอันตรายต่อสายตาได้ จึงต้องเลือกตำแหน่งในการติดตั้งให้เหมาะสม หรือเลือกใช้โคมไฟสาดที่ออกแบบให้โคมสามารถบังแสง (Shield Type) เพื่อไม่ให้มองเห็นแสงหรือภาพของหลอดปรากฏโดยตรงในมุมที่ไม่พึงประสงค์ และช่วยลดแสงบาดตาที่เกิดจากหลอดและตัวสะท้อนแสงให้มีน้อยที่สุดหรืออาจมีตัวกรองแสงปิดที่หน้าโคมซึ่งอาจเป็นเลนส์หรือกระจกที่ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
ข) โคมที่ใช้หลอดเมทัลฮาไลด์ที่มีขนาดวัตต์สูง ตัวโคมควรมีสวิตช์ตัดตอน (Disconnecting Switch) ในการซ่อม เพื่อให้ปลอดภัยและป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเลต
ที่มา : http://www.tieathai.org/know/coom/ch%204.htm
ความคิดเห็น