ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การหาขั้วและขนานหม้อแปลง

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้



                  สรุป หม้อแปลงไฟฟ้าถ้าเราใช้ตัวเดียวไม่จำเป็นต้องหาขั้ว แต่ถ้าเรามีความจำเป็นต้องนำหม้อแปลง 1 เฟส มาต่อร่วมกัน เช่น นำมาต่อขนานกัน เพื่อให้สามารถจ่ายโหลดได้เพิ่มขึ้น หรือนำมาต่อเป็นหม้อแปลงแบบ 3 เฟส จำเป็นต้องหาขั้วของหม้อแปลงก่อนจะทำการต่อ เพื่อความถูกต้อง

                  ขั้วของหม้อแปลงจะมีอยู่ 2 ลักษณะ ดังภาพด้านล่าง
ภาพที่ 1 แสดงลักษณะของขั้วหม้อแปลงทั้ง 2 แบบ

             วิธีการหาขั้วหม้อแปลง เราจะมีวิธีการคือ นำหม้อแปลงที่เราจะหาขั้วมาวางให้ด้านไฟเข้าออกนอกตัวเรา และด้านไฟออก เข้าหาตัวเรา
              จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าด้านไฟเข้า (ด้านบน) ลักษณะของขั้วจะเหมือนกันทั้ง 2 แบบ คือ เรียง H1 และ H2 ตามลำดับจากซ้ายไปขวา ดังนั้นขั้วของด้านไฟเข้าจะมีขั้วที่แน่นอน ไม่จำเป็นต้องหา
              ส่วนขั้วของด้านไฟออก คือขั้วที่เราจำเป็นต้องหา เพราะจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คืออาจจะเรียงแบบ X1 และ X2  (แบบที่ 1) หรือ  X2 และ X1 (แบบที่ 2) ก็ได้  ซึ่งเรามีวิธีในการหา ดังนี้

ภาพที่ 2 แสดงการต่อหม้อแปลงเพื่อหาขั้วของหม้อแปลง

              จากภาพที่ 2 สมมุติให้เราแบ่งหม้อแปลงออกเป็น 2 ด้าน คือซ้ายและขวา ให้เรานำสายไฟมาต่อช๊อตด้านซ้ายของหม้อแปลงไว้  ส่วนด้านขวามือให้นำโวล์ทมิเตอร์ต่อคร่อม จากนั้นจ่ายแรงดันไฟฟ้าให้กับด้านไฟเข้า 220 V ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 แสดงต่อหม้อแปลงเพื่อหาขั้วของหม้อแปลง ผลการทดลองเป็นแบบที่ 1

                    จากภาพที่ 3 เมื่อเราจ่ายแรงดันไฟฟ้าให้กับขดไฟเข้า และอ่านค่าโวล์ทมิเตอร์ ได้ค่า 110 V แสดงว่าขั้วไฟออกของหม้อแปลงเป็นลักษณะที่ 1 คือ X1 อยู่ด้านซ้าย และ X2 อยู่ด้านขวา  แต่หากเราจ่ายแรงดันแล้วอ่านค่าโวล์ทมิเตอร์ได้ 330 V แสดงว่าขั้วไฟออกของหม้อแปลงเป็นลักษณะที่ 2 ซึ่งขั้วไฟออกจะกลับกับลักษณะที่ 1 คือ X1 อยู่ด้านขวา และ X2 อยู่ด้านซ้าย ดังภาพที่ 4 

ภาพที่ 4 แสดงต่อหม้อแปลงเพื่อหาขั้วของหม้อแปลง ผลการทดลองเป็นแบบที่ 2


                  สรุปผลจากการทดลอง  
                  หากขั้วของหม้อแปลงมีลักษณะตามแบบที่ 1 ค่าแรงดันไฟฟ้าที่อ่านได้จากโวล์ทมิเตอร์ จะมีค่าเท่ากับ แรงดันไฟฟ้าที่จ่าย ลบด้วยแรงดันไฟฟ้าด้านไฟออก ซึ่งจะเป็นลักษณะขั้วแบบหักล้างกัน (Subtractive Polarity)
                  หากขั้วของหม้อแปลงมีลักษณะตามแบบที่ 2 ค่าแรงดันไฟฟ้าที่อ่านได้จากโวล์ทมิเตอร์ จะมีค่าเท่ากับ แรงดันไฟฟ้าที่จ่าย บวกด้วยแรงดันไฟฟ้าด้านไฟออก ซึ่งจะเป็นลักษณะขั้วแบบเสริมกัน (Additive Polarity) 

                 การขนานหม้อแปลง
                  เราจะทำการขนานหม้อแปลงไฟฟ้า เมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าตัวเดิมไม่สามารถที่จะรับโหลดได้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากโหลดมีจำนวนเท่ากับกำลัง  (KVA) ของหม้อแปลงตัวนั้นแล้ว
                   ดังนั้นหากเราต้องการที่จะให้ผู้ใช้ไฟสามารถใช้โหลดได้เพิ่มขึ้นจากเดิมเราต้องเปลี่ยนหม้อแปลงตัวใหม่ที่มีกำลังมากกว่าเดิมแทน แต่ในทางการปฏิบัติหากเราเปลี่ยนหม้อแปลงตัวใหม่ที่มีขนาดมากกว่าเดิม หากหม้อแปลงตัวเก่าไม่ได้ถูกนำไปใช้ในที่ใหม่ก็จะถูกเลิกใช้ทำให้เกิดการสูญเสีย จึงมีการแก้ปัญหาโดยการซื้อหม้อแปลงตัวใหม่มาเพิ่มโดยการขนานเข้าไปกับตัวเดิมที่มีอยู่ ทำให้ประหยัดงบประมาณในการลงทุน

                  การที่จะนำหม้อแปลงตัวใหม่มาขนานกับตัวเดิม จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้
                 1. ต้องมีแรงดันเข้าและออก เท่ากัน
                 2. ควรมีกำลัง (KVA) เท่ากัน หรือแตกต่างกันไม่เกิน 3 เท่า
                 3. ต้องต่อขั้วให้ถูกต้อง (ต้องทราบขั้วของหม้อแปลงก่อนการต่อ)
                 4. มีเปอร์เซ็นต์ความต้านทานอิมพีแดนซ์เท่ากัน
                 5. ต้องมีเฟสเหมือนกัน (กรณีขนานหม้อแปลง 3 เฟส)

ภาพที่ 5 แสดงการขนานหม้อแปลง 1 เฟส 2 ตัว

                     จากคุณสมบัติของการขนานหม้อแปลง เราจะเห็นว่าก่อนที่เราจะนำหม้อแปลงมาขนานกันได้ เราต้องศึกษาคุณสมบัติต่างๆ ของหม้อแปลง ให้ตรงกันมากที่สุด ยิ่งตรงกันได้ทุกอย่าง ก็จะยิ่งทำให้การขนานกันมีประสิทธิภาพดีที่สุด

                     จากภาพที่ 5  สมมติเป็นการขนานหม้อแปลง 1 เฟส ขนาด 100 kVA จำนวน 2 ตัว  เพื่อให้สามารถจ่ายโหลดได้มากขึ้น เราต่อขนานหม้อแปลงทั้ง 2 ตัว โดยเริ่มจากขดไฟเข้า ต่อขั้วของ H1 ของหม้อแปลงทั้ง 2 ตัวรวมกัน และนำไปต่อกับแหล่งจ่ายไฟที่ขั้ว L จากนั้น ต่อขั้วของ H2 ของหม้อแปลงทั้ง 2 ตัวรวมกัน และนำไปต่อกับแหล่งจ่ายไฟที่ขั้ว N
                    หลังจากนั้นต่อที่ขดไฟออกของหม้อแปลงทั้ง 2 ตัว โดยต่อขั้วของ X1 ของหม้อแปลงทั้ง 2 ตัวรวมกัน และนำออกไปยังโหลดที่ขั้ว L จากนั้น ต่อขั้วของ X2 ของหม้อแปลงทั้ง 2 ตัวรวมกัน และนำออกไปยังโหลดที่ขั้ว N จะทำให้ระบบจ่ายไฟชุดนี้ สามารถจ่ายให้กับโหลดที่มีขนาดเท่ากับ  200 kVA ได้