จำนวนผู้เยี่ยมชม
การฝึกอบรม
1. ความหมายของการฝึกอบรมมีหลายความหมาย
ดังนี้
การฝึกอบรม หมายถึง “กระบวนการต่างๆ ที่ใช้เพื่อช่วยให้ข้าราชการมีความรู้ ทักษะ
และทัศนคติที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ในหน้าที่
และเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างข้าราชการในการปฏิบัติงานร่วมกันในองค์การ”
เมื่อมองการฝึกอบรมในฐานะที่เป็นแนวทางในการพัฒนาข้าราชการตามนโยบายของรัฐหากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานหรือเพิ่มขีดความสามารถในการจัดรูปขององค์การ
การฝึกอบรม หมายถึง “การถ่ายทอดความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะ
ความชำนาญ ความสามารถ และทัศนคติในทางที่ถูกที่ควร เพื่อช่วยให้การปฏิบัติงานและภาระหน้าที่ต่างๆ
ในปัจจุบันและอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
การฝึกอบรม หมายถึง “กระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมีระบบ เพื่อให้บุคคลมีความรู้
ความเข้าใจ มีความสามารถที่จำเป็น และมีทัศนคติที่ดีสำหรับการปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งของหน่วยงานหรือองค์การนั้น”
การฝึกอบรม หมายถึง “กระบวนการในอันที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ
ทัศนคติ และความชำนาญ ในเรื่องหนึ่งเรื่องใด
และเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้จะเห็นได้ว่าความหมายของการฝึกอบรมมีมากมาย
ขึ้นอยู่กับว่าจะพิจารณาจากแนวคิด (Approach) ใดที่เกี่ยวกับการฝึกอบรม
กล่าวโดยสรุปความหมายของการฝึกอบรม
การฝึกอบรม คือ
กระบวนการที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง เพื่อเพิ่มพูนหรือพัฒนาสมรรถภาพในด้านต่างๆ
ตลอดจนการปรับปรุงพฤติกรรม
อันนำมาซึ่งการแสดงออกที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
2. วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม
การฝึกอบรมนั้นหากจะพูดว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาองค์การเป็นสิ่งถูกต้อง
หากได้พิจารณาในรายละเอียดสามารถแบ่งได้เป็นลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้
1. เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการจัดให้มีการฝึกอบรมโดยทั่วๆ
ไป
2. เพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เช่น
การเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติงานหรือกรรมวิธีในการผลิตต่างๆ
หรือการฝึกอบรมเพื่อให้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ
หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ขององค์การ
3. ต้องการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่ให้เข้าสู่ระดับมาตรฐานหรือระดับที่พึงประสงค์เพื่อให้มีความรู้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆ
ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
4. เตรียมการรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น เพื่อนำความรู้ต่างๆ
มาเตรียมพร้อมพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์การ หรืออาจจะสรุปวัตถุประสงค์ในด้านต่างๆ
ดังนี้
(1)
การเพิ่มปริมาณผลผลิต
(2) การพัฒนาคุณภาพของผลผลิต
(3) การลดต้นทุนของงาน
(4) ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุอันจะส่งผลต่อการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้อง
(5) การลดอัตราการหมุนเวียนและการขาดงานของบุคลากร
รูปที่ 1 การพัฒนาคุณภาพของผลผลิตผ่านโครงการอบรม
3. ประโยชน์ของการฝึกอบรม
1. บุคลากรหรือกลุ่มบุคลากรสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตนเองเนื่องจากได้รับประสบการณ์การเรียนรู้
สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
2. การได้ปรึกษาหารือกันในส่วนของผู้เกี่ยวข้องในองค์การ เช่น
ผู้เข้ารับการฝึกอบรม หัวหน้างาน ผู้บังคับบัญชา ผู้บริหารระดับสูงขององค์การ
หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาและการปรับปรุงการทำงาน
3. ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมได้ยกระดับความรู้และทักษะให้เกิดการปรับทัศนคติ
4. ช่วยลดระยะเวลาในการเรียนรู้งาน
5. ช่วยลดภาระหน้าที่ของหัวหน้างาน
6. ช่วยกระตุ้นบุคลากรให้ปฏิบัติงานเพื่อความก้าวหน้าของตน
4. บทบาทที่สำคัญของผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรม
4.1
ข้อปฏิบัติของผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรม
1. ต้องยอมรับความมีคุณค่าของผู้เข้าอบรมแต่ละคน
และจะต้องเคารพในความรู้สึกนึกคิดและความเห็น ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมด้วย
2. พยายามทำให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักด้วยตนเองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปรับพฤติกรรม
(ทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ และทัศนคติ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการเรียนรู้หรือการแก้ปัญหา
3. ควรจัดสิ่งแวดล้อมทางกายภาพให้สะดวกสบาย (เช่น ที่นั่ง อุณหภูมิ แสงสว่าง
การถ่ายเทอากาศ ฯลฯ) ให้เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม
4. สร้างความสัมพันธ์อันดี ให้เกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ
และความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สนับสนุนให้มีกิจกรรมที่ต้องมีการให้ความร่วมมือร่วมใจกันและกัน
ในขณะเดียวกันควรพยายามหลีกเลี่ยงการแข่งขัน
5. ควรเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมอบรมมีส่วนร่วมในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(1) การกำหนดวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ตามความต้องการของผู้ร่วมอบรม โดยสอดคล้องกับความต้องการขององค์การ
ของผู้ดำเนินการอบรม และของเนื้อหาวิชาด้วย
(2) การกำหนดกิจกรรม รวมทั้งการเลือกวัสดุอุปกรณ์ และวิธีการอบรม
(3) การกำหนดมาตรการ เกณฑ์การอบรมซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกัน
รวมทั้งร่วมกันกำหนดเครื่องมือและวิธีการวัดผลความก้าวหน้าเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
6. ช่วยผู้ร่วมอบรมให้รู้จักพัฒนาขั้นตอนและวิธีการในการประเมินตนอง
หรือวิเคราะห์และประเมินผลโครงการฝึกอบรมตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้แล้ว
4.2 คุณสมบัติของผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรม
ผู้สอน วิทยากร หรือผู้อำนวยความสะดวก (Facilitators) การจัดฝึกอบรม ควรมีคุณสมบัติดังนี้
1. มีความรู้
2. รู้จักปรับตัวให้เหมาะสม
3. มีความจริงใจ
4. มีอารมณ์ขัน
5. มีความสนใจ
6. การสอนที่มีความชัดเจน
7. การให้ความช่วยเหลือผู้เข้าอบรมแต่ละคน
8. มีความกระตือรือร้น
รูปที่ 2 วิทยากรและผู้เข้าอบรม
5. คุณสมบัติของผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรม
5.1 การหาความจำเป็นในการฝึกอบรม
การหาความจำเป็นในการฝึกอบรม หมายถึง การค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การ
โดยวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย จำนวน และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น โดยวิธีการสำรวจ
การสังเกต การทดสอบ หรืออื่นๆ เพื่อพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะอะไร จำเป็นที่จะต้องให้เทคนิคการฝึกอบรมหรือไม่
5.2 การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
การกำหนดวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมนั้นสามารถบอกผู้จัดโครงการฝึกอบรมให้รู้ถึงจุดหมายปลายทางของการฝึกอบรมนั้นๆ
ว่าต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ด้านใดบ้าง เช่น ด้านการเพิ่มพูนความรู้
ด้านทักษะการทำงาน หรือด้านทัศนคติ
5.3 การสร้างหลักสูตรฝึกอบรม
การสร้างหลักสูตรฝึกอบรมเป็นการนำปัญหาที่ค้นพบมากำหนดเป็นหลักสูตรเพื่อทำการฝึกอบรม
ซึ่งหลักสูตรประกอบด้วย
1. วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
2. หมวดวิชา หัวข้อวิชา
3. วัตถุประสงค์ของแต่ละหัวข้อวิชา
4. เนื้อหา เทคนิค/วิธีการ ระยะเวลา การเรียงลำดับหัวข้อวิชา
5.4 การกำหนดโครงการฝึกอบรม
การกำหนดโครงการฝึกอบรมเพื่อให้ทราบกรอบการปฏิบัติงาน
จากนั้นเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากผู้บริหาร เพื่อ
1. ให้ผู้บริหารพิจารณาตรวจร่างโครงการก่อนที่จะนำไปฝึกอบรม
2. ให้ผู้บริหารอนุมัติงบประมาณสำหรับใช้ในการดำเนินงาน
5.5 การบริหารโครงการฝึกอบรม
1. ความสำคัญของการบริหารโครงการอยู่ที่ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม
2. การบริหารโครงการมี 3 ระยะ คือ
(1) ก่อนการดำเนินโครงการ
(2) ระหว่างดำเนินโครงการ
(3) หลังการดำเนินโครงการ
5.6 การประเมิน/ติดตามผลการฝึกอบรม
การประเมิน/ติดตามผลการฝึกอบรม มีประเด็นในการประเมิน คือ
1. ทัศนคติทั่วไปของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานที่ ระยะเวลา และสิ่งที่อำนวยความสะดวกต่างๆ
3. คุณสมบัติและวิธีการที่วิทยากรแต่ละคนใช้ในการฝึกอบรม
4. ข้อดีและข้อเด่น หรือข้อบกพร่องต่างๆ พร้อมข้อเสนอแนะ
6 กระบวนการฝึกอบรม
6.1 แบ่งโดยยึดช่วงเวลาในการทำงาน มี 2 ประเภท คือ
1. ฝึกอบรมก่อนทำงาน
2. ฝึกอบรมระหว่างทำงาน
6.2 แบ่งโดยยึดลักษณะวิธีการฝึกอบรม มี 3 ประเภท คือ
1. ฝึกปฏิบัติงานปกติในที่ทำงาน
2. ฝึกอบรมนอกสถานที่ทำงาน (ฝึกอบรมแบบห้องเรียน)
3. ฝึกอบรมแบบผสม
6.3 แบ่งตามจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม มี 2 ประเภท คือ
1. ฝึกอบรมเป็นรายบุคคล
2. ฝึกอบรมเป็นคณะ
6.4 แบ่งตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย มี 2 ประเภท คือ
1. ระดับแนวนอน ความรู้ทั่วๆ ไปในแผนกเดียวกัน
2. ระดับแนวตั้ง ความรู้เฉพาะงาน
6.5 แบ่งตามวัตถุประสงค์การฝึกอบรม มี 3 ประเภท คือ
1. เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (ขัดข้อง)
2. เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ป้องกัน)
3. เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพสูงขึ้น (พัฒนา)
การพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดโครงการฝึกอบรมนั้นจะส่งผล
และเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับองค์การหรือหน่วยงานได้เพียงใด
ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและทัศนคติที่มีต่องานของบุคลากรผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรมเป็นสำคัญ
หากจะให้สามารถปฏิบัติงานด้านการบริหารงานฝึกอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือไปจากจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ
เกี่ยวกับกระบวนการฝึกอบรมและหลักการบริหารงานฝึกอบรมแต่ละขั้นตอนแล้ว
ผู้รับผิดชอบงานฝึกอบรมควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์แขนงต่างๆ
อย่างกว้างขวาง เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา และศาสตร์การจัดการ
ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้สามารถกำหนดหลักสูตรและโครงการฝึกอบรมได้ง่ายขึ้น
มีความรู้เกี่ยวกับหลักการบริหารบุคคลและการพัฒนาบุคคลด้วยวิธีการอื่นๆ
นอกเหนือไปจากการฝึกอบรม มีความเข้าใจถึงหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่
เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อผู้เข้าอบรมได้อย่างเหมาะสม ตลอดจน
เข้าใจถึงหลักการวิจัยทางสังคมศาสตร์อยู่บ้างพอที่จะทำการสำรวจ
เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารงานฝึกอบรมได้ นอกจากนั้น
ผู้ดำเนินการฝึกอบรมยังจำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการสื่อสาร
ทั้งด้านการเขียนและการพูดในที่ชุมนุมชน
ตลอดจนมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับกลุ่มผู้เข้าอบรมและประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
7. ประเภทการฝึกอบรม
การฝึกอบรมเป็นกิจกรรมที่องค์การมอบหมายให้หน่วยงานหรือกลุ่มบุคลากรรับผิดชอบดำเนินการ
อาทิ เช่น
7.1 การจัดฝึกอบรมเองภายในองค์การ (In House Training)
การจัดฝึกอบรมภายในองค์การเป็นการจัดฝึกอบรมให้บุคลากรภายในองค์การได้เข้าอบรมพร้อมๆ
กัน ครั้งละจำนวนมาก (Class Room Training) โดยการดำเนินการตามขั้นตอนในการจัดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากร
7.2 การส่งบุคลากรไปอบรมภายนอกองค์การ
7.3 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop)
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการมักเป็นการยกปัญหาที่มีอยู่มาให้ศึกษาหรือทดลองปฏิบัติ
และอาจใช้เป็นแนวปฏิบัติหลังการประชุมฯ
7.4 ดูงาน
ดูงานเป็นการไปขอฟังคำบรรยายสรุปถึงลักษณะการจัดระบบงาน
และวิธีการปฏิบัติงานจริงของหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจศึกษา ณ ที่ตั้งของหน่วยงานนั้น
7.5 การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานจริง
การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานจริงหรือที่เรียกว่า การฝึกอบรมในที่ทำการปกติ (On
the Job Training) ได้แก่
1. การเสนอแนะหรือการให้คำปรึกษา (Coaching/Counseling) หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาควบคุมดูแลให้บุคลากรลงมือปฏิบัติงานจริง
โดยให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิด การเสนอแนะนี้อาจหมายความรวมถึง การเป็นพี่เลี้ยง
ซึ่งไม่จำเป็นจะสอนเฉพาะเรื่องงานเท่านั้น อาจรวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับบุคคล
หรือการวางตัวในองค์การด้วยก็ได้
2. การสอนงานหรือนิเทศงาน (Job Instruction/Job
Supervision) หมายถึง
การที่ผู้บังคับบัญชาสอนงานให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสังกัด
โดยเน้นถึงการแบ่งงานออกเป็นขั้นตอน และการที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องสาธิตหรือแสดงวิธีการปฏิบัติงานให้เข้าใจก่อน
แล้วจึงควบคุมดูแลให้ปฏิบัติงานตามอย่างถูกต้อง
8. สาเหตุที่ทำให้การฝึกอบรมไม่ประสบความสำเร็จ
1. ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจไม่เห็นคุณค่าของการฝึกอบรมหรือมีความสนใจในลักษณะไฟไหม้ฟาง
ขาดความต่อเนื่องและขาดการสนับสนุนอย่างแท้จริง เป็นลักษณะของการจัดให้เสร็จๆ ไป
2. ผู้บริหารไม่สนับสนุนให้มีการนำความรู้ ทักษะ และการจัดการที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้ในการทำงานทำให้เกิดความสูญเสียในการลงทุนค่าใช้จ่าย
3. การกำหนดเนื้อหาในหลักสูตรหรือระยะเวลายังไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจน
ไม่ครอบคลุมเนื้อหาจะต้องมีการวางแผนหรือกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
9. สาเหตุที่ทำให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จ
1. การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
2. จะต้องทำให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมมีบรรยากาศของการฝึกอบรมที่ไม่เครียด สนุกสนานเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่วิทยากรถ่ายทอดและกระตุ้นให้อยากรู้
สร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนในบรรยากาศของความเป็นกันเอง
3. วิทยากรจะต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน
มีความสามารถในการถ่ายทอด
4. มีการประเมินความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ความสามารถทั้งของวิทยากรและผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมและการบรรลุเป้าหมายของโครงการฝึกอบรมนั้นด้วย
10. การฝึกอบรมที่ประสบผลสำเร็จ
1. มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
2. จะต้องทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีบรรยากาศของการอบรมที่ไม่เครียด
สนุกสนานเพลิดเพลินกับกิจกรรมที่วิทยากรถ่ายทอดและกระตุ้นให้อยากรู้
สร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนในบรรยากาศของความเป็นกันเอง
3. วิทยากรจะต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน
มีความสามารถในการถ่ายทอด
4. มีการประเมินความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ทั้งของวิทยากรและผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมและการบรรลุเป้าหมายของโครงการฝึกอบรมนั้นด้วย
ความคิดเห็น