ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ระบบจ่ายไฟฟ้า

จำนวนผู้เยี่ยมชม


              ระบบจ่ายไฟฟ้าเริ่มจากสถานีย่อยซึ่งมีสายไฟหลายเส้นต่อผ่านเซอร์กิตเบรกเกอร์ออกมาสู่ลูกค้าที่บริเวณต่างๆ   สายจ่ายไฟจะต่อเข้ากับอุปกรณ์รับไฟฟ้าของโรงงานหรืออาคาร  อุปกรณ์รับไฟฟ้าแต่ละตัวจะมีอุปกรณ์ป้องกันต่ออยู่   เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดลัดวงจรขึ้น  เบรกเกอร์จะทำการตัดไฟฟ้าเพื่อแยกอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและจำกัดความเสียหายไว้เฉพาะอุปกรณ์ที่เกิดอุบัติเหตุเท่านั้น




รูป แผนผังระบบการจ่ายไฟฟ้าทั่วไป

           ตัวอย่างเช่น หากเกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นในโรงงานหรือสำนักงาน กระแสไฟฟ้านั้นจะไหลในสถานีไฟฟ้าย่อยด้วย แต่อุปกรณ์ป้องกันระบบไฟฟ้าของโรงงานหรืออาคารจะต้องทำงานเร็วกว่าสถานีไฟฟ้าย่อยและทำการตัดวงจรออกไป  ทั้งนี้จำเป็นต้องตั้งค่าความสัมพันธ์ระหว่างค่า กระแสไฟฟ้าและเวลาในการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันให้มีความแตกต่างกันระหว่างโรงงานและสถานีไฟฟ้า  ทั้งนี้เพื่อลดความเสียหายต่ออุปกรณ์ให้เหลือน้อยที่สุด  รวมทั้งป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุส่งผลกระทบถึงสถานีไฟฟ้าอีกด้วย  มาตรการนี้เรียกว่าการจัดความสัมพันธ์ของการป้องกัน (Protection co-ordination)


           หากอุปกรณ์ป้องกันระบบไฟฟ้าไม่ทำงานตามปกติ  เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นในโรงงานหรือสำนักงาน เบรกเกอร์ของสถานีไฟฟ้าย่อยจะทำงานพร้อมๆ กับการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้สำนักงานหรือบ้านเรือนอื่นๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับสายจ่ายไฟฟ้าเดียวกันไฟดับไปด้วย ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า อุบัติเหตุต่อเนื่อง


รูปแบบของระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้า

              สถานีไฟฟ้าย่อยหรือระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้ามีอยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ
          1.  ระบบสายประธานเดี่ยว
          2.  ระบบสายประธานคู่ 
          3.  ระบบสายประธานสองชุด
          4. ระบบสปอตเนตเวิร์ค (Spot network)

ระบบสายประธานเดี่ยว (Simple radial)
                  เป็นระบบจ่ายไฟสายประธานเดี่ยว (Single primary service) และจ่ายเข้าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังผ่านเข้าสู่สายป้อน (Feeder) ดังรูปด้านล่าง  ข้อดีของระบบนี้คือ เป็นระบบที่ง่ายและราคาถูกที่สุด สะดวกต่อการป้องกันการจัดลำดับเวลาการทำงาน (Co-ordinate)   ระบบนี้เหมาะสำหรับโรงงานขนาดย่อมที่สามารถหยุดการผลิตได้ในบางเวลา
รูป ระบบสายประธานเดี่ยว (Simple radial)

ระบบสายประธานคู่ (Primary selective radial)

          เป็นระบบที่เหมือนกับระบบสายประธานเดี่ยว เพียงแต่เพิ่มวงจรสำรองให้รับไฟเป็นวงจรคู่ ซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องซ่อมแซมสายไฟฟ้าแรงสูงชุดหนึ่งชุดใด ข้อดีของระบบจ่ายไฟนี้คือ ระบบมีความน่าเชื่อถือดีขึ้น
รูป ระบบสายประธานคู่ (Primary selective radial)

ระบบสายประธานสองชุด (Secondary selective)

            ระบบนี้จะทำงานเป็นแบบระบบสายประธานเดี่ยว 2 ชุด แต่ละชุดจะถูกเชื่อมโยง (Tie) ด้วยตัดตอนอัตโนมัติ (T)   ถ้าสายไฟแรงสูงหรือหม้อแปลงชุดใดชุดหนึ่งเกิดเสียหาย   สวิตซ์ตัดตอน(M)  จะปลดวงจรชุดนั้น (Open) และสวิตซ์ตัดตอน (T) จะเชื่อมต่อวงจร (Close) ถึงกันทันที ซึ่งอาจจะเป็นแบบอัตโนมัติหรือไม่อัตโนมัติก็ได้ ระบบสายประธานสองชุดเป็นวงจรที่นิยมใช้กันมากในขณะนี้   ถ้าสายไฟแรงสูงหรือหม้อแปลงชุดใดชุดหนึ่งเกิดขัดข้อง หม้อแปลงตัวที่เหลือจะต้องจ่ายโหลดทั้งหมด
รูป ระบบสายประธานสองชุด (Secondary selective)

เพื่อจะให้หม้อแปลงทำงานได้ดีจำเป็นต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

     1) หม้อแปลงทั้งสองตัวจะต้องมีขนาดใหญ่เพื่อให้แต่ละตัวสามารถรับโหลดได้ทั้งหมด
     2) ต้องจัดหาพัดลมระบายความร้อนสำหรับหม้อแปลงในช่วงสภาวะฉุกเฉิน
     3) ปลดโหลดที่ไม่จำเป็นในช่วงสภาวะฉุกเฉิน
     4) ใช้ขนาดอุปกรณ์ป้องกันโหลดเกินตามความสามารถของหม้อแปลง และสามารถทำงานได้โดยไม่ทำให้อายุการใช้งานของหม้อแปลงลดลง
             สำหรับข้อดีของระบบนี้คือ หม้อแปลงไม่ได้ต่อขนานกัน วิสัยสามารถตัดกระแส (Interrupting capacity หรือ IC) ของ เซอร์กิตเบรคเกอร์ (CB) มีค่าเท่ากับแบบระบบสายประธานเดี่ยวระบบนี้มีความเชื่อถือสูง


ระบบสปอตเนตเวิร์ค (Spot network)

           ระบบนี้จะประกอบด้วยหม้อแปลงจ่ายไฟ 2 ชุด หรือมากกว่า ต่อแยกเป็นอิสระกัน  ส่วนทางด้านแรงต่ำจะต่อขนานโดยผ่านสวิตซ์ตัดตอนชนิดพิเศษ เรียกว่า Network protector  ถ้าสายป้อนแรงสูงหรือหม้อแปลงชุดใดชุดหนึ่งเกิดขัดข้องกำลังไฟฟ้าจะถูกป้อนผ่านหม้อแปลงตัวอื่นและผ่าน  Network protector ไปยังจุดที่ขัดข้อง พลังงานไฟฟ้าที่ป้อนกลับเป็นเหตุให้ Network protector เปิดวงจร และปลดแหล่งจ่ายออกจากวงจรแรงดันต่ำ สำหรับระบบจ่ายไฟนี้มีราคาแพงเพราะ Network protector มีราคาสูง และวิสัยสามารถตัดกระแส (IC) เพิ่มขึ้นเนื่องจากหม้อแปลงขนานกัน แต่ความสม่ำเสมอของแรงดันดี

ที่มา : https://ienergyguru.com/2015/10/ระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้า/

ความคิดเห็น