ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การประหยัดพลังงานอย่างง่ายและทำได้เองในระบบปรับอากาศ

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้

โดยส่วนมากในการอนุรักษ์พลังงานในระบบปรับอากาศอย่างง่ายและสามารถทำได้เองมักจะเน้นการดำเนินการในมาตรการด้านการจัดการเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการทางประเภทนี้จะไม่มีการลงทุนเลย หรืออาจจะมีการดำเนินการในมาตรการด้านการปรับปรุงกระบวนการผลิตบ้าง ซึ่งเป็นการลงทุนต่ำคืนทุนเร็ว ดังนั้นการอนุรักษ์พลังงานในระบบปรับอากาศอย่างง่ายสามารถดำเนินมาตรการได้ดังนี้
               
                มาตรการลดเวลาการใช้เครื่องปรับอากาศ  จะสามารถดำเนินการได้ตามนี้
1. ปิดเครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาพักกลางวัน  
2. ลดจำนวนชั่วโมงการใช้งานเครื่องปรับอากาศ  
3. เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากเข้าทำงาน 15-30 นาที หรือ ปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกงาน 15-30 นาที โดยเมื่อทำการปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกงานแล้ว ไม่ควรทำการเปิดประตู หน้าต่าง ซึ่งจะทำให้อากาศร้อนจากภายนอกเข้ามาในห้องปรับอากาศทำให้อุณหภูมิภายในห้องสูงขึ้น ซึ่งเมื่อการดำเนินมาตรการนี้จะทำให้เกิดผลประหยัดอยู่ที่ 8 % ของการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศ
               
                มาตรการควบคุมการใช้งานระบบปรับอากาศ นั้นจะต้องตั้งอุณหภูมิสูงกว่า 25◦C โดยปกติมักจะมีการรณรงค์ให้ตั้งอุณหภูมิที่ 25◦C แต่ถ้าเป็นไปได้ก็สามารถตั้งอุณหภูมิไว้สูงกว่านี้ก็ได้ ซึ่งจากการวิจัยพบว่าอุณหภูมิที่ทำให้รู้สึกสบายของคนไทยจะอยู่ที่ 22-29◦C  โดยการเพิ่มอุณหภูมิขึ้น 1◦C จะทำให้ประหยัดพลังงานขึ้น 3 % หรืออาจทำการตั้งอุณหภูมิในฤดูฝนและฤดูหนาวไว้ที่ 26.6◦C ส่วนในหน้าร้อนอาจตั้งไว้ที่25.5◦C ถ้าทำการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นยังไม่รู้สึกสบาย อาจทำการใช้พัดลมช่วยกระจายความเย็น เพิ่มความเร็วลมแทนการตั้งอุณหภูมิปรับอากาศต่ำลงก็สามารถช่วยให้เกิดการประหยัดได้เช่นกัน
               
                นอกจากนี้การแยกโซนตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บริเวณทางเดิน หรือโถงลิฟต์ ที่จำเป็นต้องมีการปรับอากาศ อาจจะตั้งอุณหภูมิสูงกว่าห้องทำงานก็ได้ ซึ่งอาจจะตั้งไว้ที่ 27.7◦C เพื่อเป็นการลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ 
               
                มาตรการลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเมื่อการดำเนินมาตรการนี้จะมีเปอร์เซ็นต์ผลประหยัดอยู่ที่ 10 % ของการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ดำเนินมาตรการ โดยมีแนวทางในการดำเนินมาตรการ คือ นำอุปกรณ์ที่มีภาระความร้อนออกจากห้องปรับอากาศ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร กาต้มน้ำ ตู้เย็น หรือปิดอุปกรณ์ผลิตความร้อนเมื่อไม่ใช้งาน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปริ๊นเตอร์แบบเลเซอร์  ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะแผ่รังสีความร้อนออกไปทั่วห้องปรับอากาศ ซึ่งความร้อนที่เกิดขึ้นทำให้มีอุณหภูมิในห้องเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิภายในห้องให้เท่าเดิม เครื่องปรับอากาศจึงต้องทำความเย็นเพิ่มขึ้น ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย และอีกตัวอย่างที่ควรคำนึงสำหรับ มาตรการลดภาระการทำงานของเครื่องปรับอากาศ คือการกั้นพื้นที่เพื่อลดภาระของเครื่องปรับอากาศโดยเป็นการลดพื้นที่ในการปรับอากาศ ซึ่งสามารถช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
               
                การบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศ นั้นจะต้องทำการการตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน  และควรทำการล้างเครื่องปรับอากาศทุกๆ 6 เดือน ซึ่งเมื่อการดำเนินตามมาตรการนี้ส่งผลประหยัดได้ถึง 5 % ของการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศที่ดำเนินมาตรการ 
               

                การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องปรับอากาศ นั้นให้ย้าย Condensing Unit ให้อยู่ในที่ร่ม  การลดอุณหภูมิอากาศก่อนเข้า Condensing Unit โดยการติดตั้งอุปกรณ์ Cooling Pad เข้ากับชุด Condensing Unit เพื่อทำหน้าที่ลดอุณหภูมิของอากาศก่อนที่จะผ่านเข้าไประบายความร้อนให้กับระบบปรับอากาศ ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานลงหรือช่วยให้เกิดผลประหยัดถึง 2%  เทคนิคการประหยัดพลังงานระบบปรับอากาศดังที่กล่าวมาทั้งหมดยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับบ้านที่อยู่อาศัย

ที่มา : http://www.energysavingmedia.com/news/page.php?a=10&n=2&cno=3897

ความคิดเห็น