ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

9 วิธีการใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงาน

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้
      
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้นเกือบตลอดทั้งปี การใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อทำความเย็นให้เกิดความรู้สึกเย็นสบายแก่ผู้อาศัยภายในบ้านพักที่อยู่ภายในเมืองใหญ่ๆ หรือตามชานเมืองจึงได้รับความนิยมมาก แต่เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างสูง ดังนั้นการประหยัดพลังงานไฟฟ้าจึงมีความจำเป็น

       การใช้เครื่องปรับอากาศให้ประหยัดพลังงานสามารถทำได้ดังนี้


1.       ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


              การล้างเครื่องปรับอากาศควรทำโดยช่างที่ชำนาญงาน  เพื่อให้เครื่องปรับอากาศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถยืดอายุการใช้งานได้นาน และสามารถประหยัดไฟฟ้าได้ 10 %

2.       กันร้อนให้คอนเดนเซอร์


               เจ้าของเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญของคอนเดนเซอร์ที่ตั้งอยู่ภายนอก โดยการนำคอนเดนเซอร์ไปวางไว้ในที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น วางไว้บนดาดฟ้า วางไว้บนพื้นซิเมนต์กลางแดด หรือวางไว้ในที่ลมถ่ายเทไม่สะดวก ทำให้คอนเดนเซอร์ทำงานหนักและลดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องปรับอากาศลง ส่งผลให้สิ้นเปลืองพลังงานและค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงควรตั้งคอนเดนเซอร์ไว้ในที่ร่มและมีลมถ่ายเทได้สะดวก หรือจัดหาร่มเงาให้ เช่น วางกระถางต้นไม้ไว้ใกล้ๆ เพื่อบังแดด และวางให้ห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้คอนเดนเซอร์ระบายความร้อนได้ดีขึ้น จะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 15 – 20 %


3.       ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศา


   การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 องศาเซนเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ร่างการของมนุษย์มีความรู้สึกสบาย และจะทำให้ประหยัดไฟมากที่สุด จะทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 10 %

4.       ไม่นำความชื้นเข้าห้อง


                     เชื่อหรือไม่ว่าสำหรับเมืองไทยแล้ว พลังงานที่ใช้ทั้งหมดสำหรับเครื่องปรับอากาศ จะใช้ในกาทำความเย็น เพียง 30 % เท่านั้น พลังงานส่วนที่เหลือจะใช้ไปเพื่อทำให้อากาศในห้องแห้ง หรือที่เรียกว่า การรีดความชื้นออกจากห้อง ดังนั้นหากเราอยากให้เครื่องปรับอากาศสิ้นเปลืองพลังงานน้อย ก็อย่าเอาของที่มีความชื้นไปไว้ในห้องปรับอากาศ เช่น กระถางต้นไม้ การตากผ้าชื้นในห้องปรับอากาศ หรือทำเกร็ดระบายอากาศของประตูห้องน้ำในห้อง เป็นต้น


5.       ไม่นำของร้อนเข้าห้อง


หลีกเลี่ยงการนำเครื่องครัว หรือภาชนะที่มีผิวหน้าร้อนจัด เช่น เตาไฟฟ้า กระทะร้อน กาต้มน้ำ หม้อต้นสุกี้ เข้าไปในห้องปรับอากาศ ควรปรุงให้เสร็จจากในครัว แล้วจึงนำเข้ามารับประทานภายในห้อง เพื่อไม่เป็นการเพิ่มความร้อนในห้องให้เป็นภาระทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น

6.       ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท
ควรปิดประตูและหน้าต่างให้สนิทขณะเปิดเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศร้อน หรือความชื้นจากภายนอกเข้ามาเป็นภาระทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น

7.       ถ่ายเทความร้อน
ในช่วงเวลาที่ไม่ใช้ห้อง หรือก่อนเปิดเครื่องปรับอากาศ ประมาณ 15 นาที ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ภายนอก เข้ามาแทนที่อากาศเก่าในห้อง จะช่วยลดความร้อนในห้องและลดกลิ่นต่างๆ ให้น้อยลงโดยไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลมระบายอากาศซึ่งจะเป็นภาระทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้น

8.       ปิดก่อนออก
ควรปิดเครื่องปรับอากาศก่อนออกจากห้องประมาณ 30 – 60 นาที เพราะยังมีความเย็นเหลืออยู่ โดยการปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียู ก่อนออกจากห้อง 1 ชั่วโมง จะทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 21 หน่วยต่อเดือน ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 80 บาท

9.       เปิดเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น


เลือกเปิดเครื่องปรับอากาศเท่าที่จำเป็น ก็จะทำให้ประหยัดพลังงานได้ เช่น เปิดเครื่องปรับอากาศเฉพาะในห้องนอน เป็นต้น

ที่มา : แผ่นพับการประหยัดพลังงานจากเครื่องปรับอากาศ

ความคิดเห็น