ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คำศัพท์ที่ใช้ในระบบส่องสว่าง

จำนวนผู้เยี่ยมชมหน้านี้

ทำความรู้จักคำศัพท์ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง
ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง จัดเป็นงานระบบไฟฟ้าที่มักจะได้รับการออกแบบเป็นอันดับแรกเสมอ เมื่อมีการออกแบบระบบไฟฟ้าภายในอาคาร  และถ้าออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพก็จะสามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคารได้ อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก เพราะหากการประหยัดแสงสว่างแล้วก่อให้ประสิทธิภาพของผู้ใช้งานอาคารลดลง เกิดอุบัติเหตุ หรือการสูญเสียต่าง ๆ จากสภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่นนั้นแล้วก็ถือว่าไม่เหมาะสมและไม่ประหยัดค่าใช้จ่ายสุทธิที่แท้จริง ดังนั้น การออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างให้ประหยัดพลังงานที่แท้จริง ควรมุ่งเน้นให้ระบบมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระดับการส่องสว่างที่เพียงพอ เหมาะสมต่อการใช้งาน และได้คุณภาพของแสงสว่างที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่แสดงถึงคุณภาพของแสงสว่างที่ดี หากมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเป็นอย่างดี ย่อมสามารถออกแบบหรือเลือกใช้ระบบไฟฟ้าแสงสว่างได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
  • ฟลักซ์การส่องสว่าง (Luminous Flux) คือ ปริมาณแสงทั้งหมดที่ส่องออกจากแหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ มีหน่วยเป็น ลูเมน (Lumen, lm)
  • ความเข้มการส่องสว่าง (Luminous Intensity, I) คือ ความเข้มของแสงที่ส่องออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง มักใช้แสดงความเข้มของแสงที่มุมต่างๆ ของโคมไฟ มีหน่วยเป็น แคนเดลา (Candela, cd)
    ความส่องสว่าง (Illuminance, E) คือ ปริมาณแสงที่ตกกระทบบนพื้นผิวต่อพื้นที่ อาจเรียกว่า ระดับความสว่าง (Lighting Illuminance level) เพื่อบอกว่าพื้นที่นั้นๆ ได้รับแสงสว่างมากน้อยเพียงใด มีหน่วยเป็น ลูเมนต่อตารางเมตร หรือ ลักซ์ (Lux, lx) ค่าที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่สามารถดูคำแนะนำได้จากมาตรฐาน TIEA-GD 003 ของสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย
  • ความสว่าง (Luminance, L) คือ ปริมาณแสงสะท้อนออกมาจากพื้นผิวใดๆ ในทิศทางใดทิศทางหนึ่งต่อพื้นที่ หรือเรียกว่า ความจ้า (Brightness) ซึ่งปริมาณแสงที่เท่ากัน เมื่อตกกระทบลงมาบนวัตถุที่มีสีต่างกัน จะมีปริมาณแสงสะท้อนกลับต่างกัน ทำให้เห็นวัตถุมีความสว่างต่างกัน มีหน่วยเป็น แคนเดลาต่อตารางเมตร
  • อุณหภูมิสีของแสง (Color Temperature) เป็นการะบุสีของแสงที่ปรากฏให้เห็น โดยเทียบกัยสีที่เกิดจากการเปล่งสีของการเผาไหม้วัตถุดำอุดมคติ (Black body) ให้ร้อนที่อุณหภูมิที่กำหนด มีหน่วยเป็น เคลวิน (Kelvin, K) เช่น แสงจากหลอดไส้หรือหลอดอินแคนเดสเซนต์มีอุณหภูทิสี 2,700 K มีอุณหภูมิต่ำ แสงที่ได้จะอยู่ในโทนสีร้อน (สีแดง) ส่วนแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาเที่ยงวันที่ให้แสงสีขาวนั้นมีอุณหภูมิสีประมาณ 5,500 K หรือแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดสีเดย์ไลต์ (Daylight) ที่มีอุณหภูมิสี 5,500 K สามารถเปล่งแสงออกมาเป็นสีขาว
    ***อุณหภูมิสีของแสงจะแตกต่างจากอุณหภูมิความร้อน กล่าวคือ หลอดไฟที่มีอุณหภูมิสีต่ำจะให้โทนสีอุ่น (Warm white) ส่วนหลอดไฟที่มีอุณหภูมิสีสูงจะให้โทนสีเย็น (Cool white/ Daylight) ซึ่งจะตรงข้ามกับอุณหภูมิความร้อน การเลือกใช้แสงที่มีอุณหภูมิสีต่างกันจะทำให้ได้บรรยากาศที่แตกต่างกัน***
  • ความเสื่อมของหลอด (Lamp Lumen Depreciation, LLD) คือ อัตราส่วนปริมาณแสงที่เหลืออยู่ เมื่อหลอดไฟครบอายุใช้งานเทียบกับค่าฟลักซ์การส่องสว่างเริ่มต้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดไฟแต่ละชนิด
  • ดัชนีความถูกต้องของสี (Color Rendering Index, CRI or Ra) เป็นค่าที่บอกว่าแสงที่ส่องไปถูกวัตถุ ทำให้เห็นสีของวัตถุได้ถูกต้องมาก/น้อยเพียงใด ค่าดัชนีนี้ไม่มีหน่วย มีค่าตั้งแต่ 0 – 100 โดยกำหนดแสงอาทิตย์ช่วงกลางวันเป็นดัชนีอ้างอิงเปรียบเทียบที่มีค่า Ra = 100 ดังนั้นหากหลอดไฟที่มีค่า Ra ต่ำจะทำให้สีของวัตถุพี้ยนไปได้
  • ค่าประสิทธิผลการส่องสว่างของหลอด (Lamp Luminous Efficacy) คืออัตราส่วนระหว่างปริมาณแสงที่หลอดเปล่งออกมาได้ (ปริมาณฟลักซ์การส่องสว่างท่ออกจากหลอด โดยทั่วไปวัดที่ค่าฟลักซ์การส่องสว่างเริ่มต้น คือ หลังหลอดทำงานแล้ว 100 ชั่วโมง) ต่อกำลังไฟฟ้าที่หลอด มีหน่วยเป็น ลูเมนต่อวัตต์ (lu/W) เรียกว่า ค่าประสิทธิผลการส่องสว่างของหลอด แต่ถ้าหากค่ากำลังไฟฟ้าที่ใช้ ไม่ใช่ค่ากำลังไฟฟ้าที่หลอด แต่เป็นค่ากำลังไฟฟ้าของวงจรหรือค่ากำลังที่หลอดรวมบัลลาสต์ จะเรียกว่า ค่าประสิทธิผลการส่องสว่างของวงจร หรือ ค่าประสิทธิผลการส่องสว่างของหลอดรวมบัลลาสต์ (Circuit Luminous Efficacy or System Luminous Efficacy)
    ***ค่าประสิทธิผลเป็นค่าที่คล้ายกับค่าประสิทธิภาพตรงที่เป็นการเปรียบเทียบสมรรถนะ เพื่อบอกว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะให้สมรรถนะสูงเพียงใด แต่ต่างกันตรงที่ค่าประสิทธิภาพนั้นเป็นการเปรียบเทียบเรื่องเดียวกัน ดังนั้นหน่วยจึงหักล้างกันหมดทำให้ไม่มีหน่วย จึงนิยมเรียกเป็น ร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าประสิทธผลจะเป็นการเปรียบเทียบเรื่องต่างกัน จึงยังคงมีหน่วย***
  • ดัชนีคุณภาพของบัลลาสต์ (Quality Index) คือ ค่าที่ใช้บอกประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบัลลาสต์ หมายถึง อัตราส่วนระหว่างกำลังไฟฟ้าที่บัลลาสต์จ่ายให้หลอดหรือกำลังไฟฟ้าที่หลอด (Lamp power) กับกำลังไฟฟ้าสูญเสียในบัลลาสต์ (Ballast loss) เช่น ค่าดัชนีคุณภาพขั้นต่ำของบัลลาสต์กำลังสูญเสียต่ำ (Low loss ballast) สำหรับหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบหลอดตรง 36 วัตต์ควรมีค่าไม่น้อยกว่า 6.0
  • ค่าประสิทธิภาพของโคมไฟ (Luminaire Efficiency) คือ ค่าที่ใช้บอกประสิทธภาพการให้แสงของโคมไฟ ซึ่งมาจากค่าอัตราส่วนของแสงโดยรวมที่ออกจากโคม เมื่อเทียบกับแสงที่ออกจากหลอดที่ติดตั้ง เช่น โคมฟลูออเรสเซนต์ตะแกรงโดยทั่วไป อาจมีค่าประสิทธิภาพของโคมไฟ ประมาณ 60 % แต่โคมฟลูออเรสเซนต์ตแกรงแบบประสิทธิภาพสูง จะมีค่าประสิทธิภาพโคมไฟมาถึง 80 % ซึ่งหมายความว่า หากหลอดเปล่งแสงออกจากหลอดคิดเป็น 100 % เมื่อนำหลอดประเภทนี้ไปติดตั้งในโคมไฟประสิทธิภาพสูงจะให้แสงออกจากดวงโคมมากถึง 80 %
  • แสงบาดตา (Glare) หมายถึง สภาพแสงที่เข้าตาแล้วทำให้มองเห็นวัตถุได้ยากหรือมองไม่เห็นเลย ทำให้สามารถแบ่งแสงบาดตาออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ คือ 
                     - แสงบาดตาแบบไม่สามารถมองเห็นได้ (disability glare) เป็นแสงบาดตาประเภทที่ไม่สามารถมองเห็นวัตถุได้      เช่น แสงจ้าจากดวงอาทิตย์
                    - แสงบาดตาแบบไม่สบายตา (Discomfort glare) เป็นแสงบาดตาประเภทที่ยังมองเห็นวัตถุได้ แต่เป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่สบายตา เพราะมีแสงย้อนเข้าตา เช่น แสงสะท้อนบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
                   ***การออกแบบแสงสว่างที่ดี ต้องจัดตำแหน่งติดตั้งโคมและเลือกใช้โคมไฟให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดแสงบาดตาน้อยที่สุด ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากค่า UGR***
  • UGR (Unified Glare Rating System) เป็นเกณฑ์ตามมาตรฐาน CIE หรือ Commission International del’Eclairage) ในการประเมินแสงบาดตาของการให้แสงสว่างภายในอาคาร แทนการใช้กราฟแสงบาดตา โดยสเกลของค่า UGR คือ 13 16 19 22 25 และ 28 โดยค่า 13 หมายถึงมีแสงบาดตาน้อย ส่วน 28 หมายถึงมีแสงบาดตามาก

ที่มา : http://www.ecoplus.co.th/ทำความรู้จักคำศัพท์ระบ

ความคิดเห็น